กนอ. ไฟเขียว อนุมัติจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมเชิงนิเวศครบวงจรกว่า 1,891 ไร่บนพื้นที่ของ ARAYA THE EASTERN GATEWAYปักหมุดศูนย์กลางแห่งนวัตกรรม อุตสาหกรรม รองรับการเติบโตบนทำเลบางนา-ตราด กม.32

กนอ. ไฟเขียว อนุมัติจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมเชิงนิเวศครบวงจรกว่า 1,891 ไร่บนพื้นที่ของ ARAYA THE EASTERN GATEWAYปักหมุดศูนย์กลางแห่งนวัตกรรม อุตสาหกรรม รองรับการเติบโตบนทำเลบางนา-ตราด กม.32

การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) อนุมัติจัดตั้งพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมเชิงนิเวศครบวงจร บนที่ดินของโครงการ อารยะ ดิ อีสเทิร์น เกตเวย์ (ARAYA THE EASTERN GATEWAY) ซึ่งอยู่ภายใต้การพัฒนาของ บริษัท อารยะ แลนด์ ดีเวลลอปเม้นต์ จำกัด บนพื้นที่ประมาณ 1,891 ไร่ เตรียมพร้อมจ้างงานกว่า 14,5601 อัตรา ส่งเสริมแรงงานในพื้นที่ พร้อมรองรับระบบนิเวศเมืองอุตสาหกรรม  และนวัตกรรมครบวงจรรูปแบบใหม่ (Industrial-Tech Ecosystem) โดยพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมจะเป็นส่วนหนึ่งของโครงการเมืองอุตสาหกรรมอารยะ ดิ อีสเทิร์น เกตเวย์ที่เป็นพื้นที่รวมแคมปัสด้านอุตสาหกรรมและเทคโนโลยี พื้นที่โลจิสติกส์ ตลอดจนโซนไลฟ์สไตล์และบริการต่าง ๆ ศูนย์กลางการให้บริการชุมชน และโครงการที่อยู่อาศัย มุ่งหวังยกระดับอุตสาหกรรมไทย สู่ศูนย์กลางนวัตกรรมระดับโลก ดึงดูดเม็ดเงินลงทุน สร้างงานคุณภาพ และขับเคลื่อนเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน

นายยุทธศักดิ์ สุภสร ประธานกรรมการ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เผยว่า “กนอ. มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ร่วมมือกับ บริษัท อารยะ แลนด์  ดีเวลลอปเม้นต์ จำกัด ในการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมเชิงนิเวศครบวงจร บนพื้นที่ของโครงการ อารยะ ดิ อีสเทิร์น เกตเวย์ ซึ่งจะเป็นนิคมอุตสาหกรรมลำดับที่ 73 ภายใต้การกำกับดูแลของเรา โครงการนี้จะเป็นระบบนิเวศเมืองอุตสาหกรรมและนวัตกรรมที่สมบูรณ์แบบ โดยได้รับอานิสงส์จากโครงสร้างพื้นฐานที่ทันสมัยและสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน ตลอดจนสาธารณูปโภคที่ได้มาตรฐานสากลของโครงการอารยะฯ ผมเชื่อมั่นว่าด้วยศักยภาพและความพร้อมดังกล่าว จะทำให้นิคมอุตสาหกรรมนี้ ได้รับการตอบรับที่ดีจากนักลงทุน รวมทั้งเป็นนิมิตหมายอันดีในการสร้างความเข้มแข็งให้กับภาคเศรษฐกิจอุตสาหกรรมของประเทศ”

ด้านนายสุเมธ ตั้งประเสริฐ กรรมการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย รักษาการผู้ว่าการ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า "บริษัท อารยะ แลนด์ ดีเวลลอปเม้นต์ จำกัด เป็นพันธมิตรในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภคของนิคมอุตสาหกรรมบนพื้นที่กว่า 1,891 ไร่ อันเกิดจากการรวมตัวของ 3 ผู้นำอสังหาฯ เพื่ออุตสาหกรรม ได้แก่ บริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ (ประเทศไทย) จํากัด (มหาชน), บริษัท สวนอุตสาหกรรมโรจนะ จำกัด (มหาชน) และ บริษัท นิคมอุตสาหกรรมเอเซีย จำกัด หรือเอเชีย อินดัสเตรียล เอสเตท เราเล็งเห็นว่าโครงการนี้มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาระบบนิเวศอุตสาหกรรมและนวัตกรรมที่สมบูรณ์แบบของประเทศไทย โดยเอกชนเป็นผู้ลงทุนพัฒนาสาธารณูปโภค ภายใต้การกำกับดูแลของ กนอ. ซึ่งจะช่วยส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่หลากหลาย เช่น เซมิคอนดักเตอร์, อิเล็กทรอนิกส์, EV, ยาและเวชภัณฑ์, โลจิสติกส์ และ Data Center โดยโรงงานที่ตั้งในนิคมฯ จะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีและการลงทุนตามนโยบายรัฐ"

ด้านนางสาวกมลกาญจน์ คงคาทอง กรรมการผู้จัดการ บริษัท อารยะ แลนด์ ดีเวลลอปเม้นต์ จำกัด  เผยว่า “โครงการอารยะ ดิ อีสเทิร์น เกตเวย์ ถูกพัฒนาขึ้นภายใต้แนวคิด ระบบนิเวศด้านอุตสาหกรรมและนวัตกรรมที่เชื่อมโยงเป็นหนึ่งเดียวกัน หรือ Industrial Tech Ecosystem  โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อบุกเบิกระบบนิเวศแห่งนวัตกรรมด้านอุตสาหกรรม เทคโนโลยีขั้นสูง และโลจิสติกส์แบบครบวงจรที่ยังไม่เคยมีมาก่อนในประเทศไทย บนที่ดินพื้นที่โซนสีม่วงผืนใหญ่ใกล้กรุงเทพมหานครฯ ตั้งอยู่บนกิโลเมตรที่ 32 ของถนนบางนา-ตราด จังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งเชื่อมต่อไปสู่ทางพิเศษกรุงเทพ-ชลบุรีสายใหม่ (Motorway) ใกล้สนามบินนานาชาติสุวรรณภูมิ และสามารถเดินทางไปสู่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ได้อย่างสะดวก รวมถึง การมีโครงสร้างพื้นฐานที่พร้อมรองรับการลงทุน พร้อมดึงดูดบริษัทชั้นนำจากหลายภาคส่วน เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้ก้าวหน้าอย่างยั่งยืนต่อไป

การพัฒนาโครงการอารยะ ดิ อีสเทิร์น เกตเวย์สอดคล้องกับความต้องการที่ดินด้านอุตสาหกรรมที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากบริษัทข้ามชาติชั้นนำในระดับภูมิภาค อีกทั้งการได้รับการอนุมัติจัดตั้งพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม

เชิงนิเวศจากการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ยังมีส่วนสำคัญในการเสริมสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุน ทั้งในด้านศักยภาพของโครงการและความพร้อมในการส่งมอบที่ดินเพื่อรองรับการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมในอนาคต”

ปัจจุบัน โครงการอารยะได้รับความสนใจอย่างต่อเนื่องจากกลุ่มลูกค้าในหลากหลายอุตสาหกรรม และพร้อมรองรับอุตสาหกรรมแห่งอนาคตที่มีบทบาทในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจระดับประเทศ โดยโครงการได้เริ่มลงนามในสัญญากับบริษัทชั้นนำระดับโลกบางรายแล้ว ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความน่าเชื่อถือและศักยภาพของโครงการในระดับสากล

ข่าวเกี่ยวข้อง