กองบัญชาการตำรวจนครบาล ร่วมกับ บริษัท กลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัดจัดทำโครงการ“เสริมสร้างวินัยจราจรเพื่อความปลอดภัยทางถนนด้วยมาตรการองค์กร”

กองบัญชาการตำรวจนครบาล ร่วมกับ บริษัท กลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัดจัดทำโครงการ“เสริมสร้างวินัยจราจรเพื่อความปลอดภัยทางถนนด้วยมาตรการองค์กร”

วันที่ 14 มิถุนายน 2565 พลตำรวจตรีจิรสันต์ แก้วแสงเอก รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล             และนายประสิทธิ์ คำเกิด รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท กลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด ร่วมแถลงข่าวโครงการ“เสริมสร้างวินัยจราจรเพื่อความปลอดภัยทางถนนด้วยมาตรการองค์กร” ณ กองบัญชาการตำรวจนครบาล

จากข้อมูลของศูนย์ความร่วมมือป้องกันอุบัติเหตุ กทม.(ศรก.) ซึ่งเป็นความร่วมมือของกองบัญชาการตำรวจนครบาล , สำนักการจราจรและขนส่ง ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนกรุงเทพมหานคร, ศูนย์วิชาการความปลอดภัยทางถนน , ศูนย์เอราวัณ และ บริษัท กลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัดที่ได้มีการนำข้อมูลจาก ระบบ อบถ.ตร.ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ , ข้อมูลจากศูนย์เอราวัณ สำนักการแพทย์ และข้อมูลจากศูนย์ข้อมูลอุบัติเหตุทางถนน www.thairsc.com ของบริษัทกลางฯ พบว่าพื้นที่กรุงเทพมหานคร จำนวนผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนเป็นจำนวนมาก โดยยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุมากที่สุดคือรถจักรยานยนต์ คิดเป็น 86.71% อีกทั้งยังพบว่าช่วงวัยที่เสียชีวิตมากที่สุดคือวัยทำงานที่มีมากกว่าร้อยละ 50 โดยในปี 2564 นั้น เขตพื้นที่ที่มีผู้เสียชีวิตมากที่สุดของ กทม. คือเขตลาดกระบังเนื่องจากเป็นเขตพื้นที่ที่มีนิคมอุตสาหกรรมซึ่งจะมีการใช้รถใช้ถนนกันจำนวนมากทั้งภายในและภายนอกนิคม จึงมีความเสี่ยงสูงที่จะมีอุบัติเหตุจากการใช้รถใช้ถนน และเมื่อเกิดอุบัติเหตุแล้วย่อมมีความสูญเสีย ความเสียหาย ทั้งต่อตัวพนักงาน ครอบครัว และ รวมถึงองค์กรที่ล้วนแต่ได้รับผลกระทบทั้งสิ้น

ด้วยอุบัติเหตุทางถนนนั้น ไม่ได้เป็นความรับผิดชอบของคนหนึ่งคนใด หรือหน่วยงานหนึ่งหน่วยงานใดหากแต่เป็นเรื่องของทุกคน ทุกภาคส่วน ทุกหน่วยงานจะต้องมีการร่วมมือร่วมใจกันอย่างแท้จริง เพื่อส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมขับเคลื่อนลดอุบัติเหตุทางถนนอย่างเป็นระบบ กองบัญชาการตำรวจนครบาลและบริษัท       กลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด จึงได้ร่วมกันจัดทำโครงการ เสริมสร้างวินัยจราจรเพื่อความปลอดภัยทางถนนด้วยมาตรการองค์กร ขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างวินัยจราจรในคนวัยทำงาน/เพื่อลดอุบัติเหตุทางถนน โดยการจัดการอย่างเป็นระบบ/เพื่อส่งเสริมให้สถานประกอบการในพื้นที่เสี่ยงมีมาตรการองค์กรด้านความปลอดภัยทางถนน และเพื่อให้พนักงานในหน่วยงาน/สถานประกอบการที่เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการลดอุบัติเหตุทางถนน ด้วยการสวมหมวกนิรภัย100% ทั้งผู้ขับขี่และโดยสารรถจักรยานยนต์ และมีวินัยจราจร (การใช้รถใช้ถนนเพื่อความปลอดภัย) มากขึ้น โดยเป้าหมายในโครงการครั้งนี้จะมีการส่งเสริมให้องค์กรต่างๆ ในนิคมอุตสาหกรรมลาดกระบังมีมาตรการด้านความปลอดภัยทางถนนในองค์กร เพื่อให้พนักงานถือปฏิบัติ

           “มาตรการองค์กร” นั้นหมายถึงการที่ “หน่วยงานหรือสถานประกอบการ” ที่มีพนักงานลูกจ้างในแต่ละองค์กรซึ่งต้องใช้รถใช้ถนนอยู่ทุกวันนั้น ได้เห็นความสำคัญของทรัพยากรมนุษย์เพราะเป็นกำลังสำคัญในองค์กรซึ่งควรได้รับความคุ้มครองดูแล นอกจากความปลอดภัยในสถานประกอบการแล้ว ยังขยายไปถึงความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนนภายนอกสถานประกอบการนั้นด้วย อันเป็นการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมอีกประการหนึ่ง โดยผู้บริหารระดับสูงจะกำหนดเป็นนโยบายองค์กรโดยให้มี“กฎบัตรหรือข้อบังคับว่าด้วยความปลอดภัยทางถนนขององค์กร” ขึ้นที่เปรียบเสมือน กฎกติกา ข้อบังคับขององค์กรที่ว่าด้วยการปฏิบัติตนในการใช้รถใช้ถนนเพื่อความปลอดภัยทั้งต่อตนเองและต่อสังคม เพื่อให้พนักงานในองค์กรต้องยึดถือปฏิบัติ ซึ่งจะมีการกำหนดบทลงโทษหากมีการฝ่าฝืน และการให้รางวัลหากพนักงานนั้นประพฤติปฏิบัติตนตามข้อบังคับและเป็นแบบอย่างที่ดี ซึ่งกฎบัตรหรือข้อบังคับนี้จะเป็นการเสริมสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนนของพนักงานในองค์กร ซึ่งเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาองค์กรและประเทศ จะทำให้พนักงานในองค์กรมีวินัย มีความปลอดภัยต่อชีวิตร่างกาย หรืออนามัย อันเนื่องจากการใช้รถใช้ถนน รวมถึงจะเป็นการป้องกันและลดการสูญเสีย อันเป็นการแสดงถึงความรักความห่วงใยในพนักงานในที่ทำงาน อีกทั้งจะช่วยลดต้นทุนหรือค่าใช้จ่ายในกรณีที่พนักงานของบริษัทประสบอุบัติเหตุทางถนนอีกด้วย

“อุบัติเหตุทางถนนและการบาดเจ็บหรือเสียหายชีวิต สามารถป้องกันได้” หากทุกคน ทุกหน่วยงาน ทุกองค์กรช่วยกันอย่างแท้จริงก็จะสามารถหยุดการเกิดอุบัติเหตุได้ เริ่มที่ตัวเรา ปฏิบัติตามกฎจราจร ไม่ขับรถเร็ว เพื่อลดความเสี่ยง และสำหรับผู้ใช้จักรยานยนต์ อย่าลืมสวมหมวกกันน็อก ทั้งผู้ขับขี่และผู้ซ้อนท้ายเพราะจักรยานยนต์เป็นยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูง ผู้ขับขี่และผู้ซ้อนท้ายต้องมีอุปกรณ์นิรภัย คือ หมวกกันน็อก ไว้ป้องการการบาดเจ็บทางศีรษะ

สำหรับขั้นตอนการดำเนินการของโครงการจะมีการสร้างความเข้าใจกับหน่วยงาน / สถานประกอบการที่เข้าร่วมในเรื่องการขับเคลื่อนมาตรการองค์กรด้านความปลอดภัยทางถนน / มีการสนับสนุนองค์ความรู้เพื่อเป็นเครื่องมือขับเคลื่อนมาตรการองค์กรด้านความปลอดภัยทางถนน / มีการติดตามการขับเคลื่อนของหน่วยงานหรือสถานประกอบการ รวมถึงมีการมอบใบประกาศ “หน่วยงานเสริมสร้างมาตรการองค์กรด้านความปลอดภัยทางถนน” ให้กับสถานประกอบการที่มีการขับเคลื่อน

โดยกองบัญชาการตำรวจนครบาล ซึ่งจะมีการอบรมด้านการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมความเสี่ยงด้วยทักษะการบังคับเชิงบวกให้กับตำรวจจราจร เพื่อลดแรงต้านในการบังคับใช้กฏหมาย รวมไปถึงสถานีตำรวจพื้นที่รับผิดชอบจะมีการตั้งจุดตรวจกวดขัน ในช่วง 3 เดือนแรก โดยจะเป็นจุดตรวจปรับทัศนคติ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเสี่ยง และหลังจากช่วงปรับทัศนคติจนสิ้นสุดโครงการ ก็จะมีการบังคับใช้กฎหมาย มีการตรวจจับปรับจริงต่อไป

ส่วนของบริษัท กลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัดนั้น จะให้การสนับสนุนและจัดทำ ให้คำแนะนำในเรื่องของมาตรการองค์กร และให้การสนับสนุนหมวกนิรภัยสำหรับหน่วยงานที่เข้าร่วมโครงการที่มีการจัดเก็บสถิติการสวมหมวกนิรภัยในพื้นที่เป้าหมาย และเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์หรือซอฟต์แวร์ประมวลผล(Helmet Detection) เพื่อใช้ประเมินผลการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้รถใช้ถนนที่มาจากภาพวิดีโอ / วงจรปิด / กล้องจราจร ในพื้นที่จริง เพื่อเป็นข้อมูลเปรียบเทียบ วิเคราะห์ ติดตามและประเมินผลตามเป้าหมายและวัตถุประสงค์ของโครงการอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อใช้เป็นแนวทางปฏิบัติและขยายผลต่อไปยังองค์กรต่างๆ ต่อไป

อุบัติเหตุทางถนนเป็นเรื่องของทุกคน มาร่วมสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยทางถนน โดยเริ่มจากตัวเราครอบครัวเรา องค์กรของเราและขยายสู่สังคมต่อไป เพื่อความปลอดภัยของทุกคนที่ใช้รถใช้ถนนและลดการสูญเสียจากอุบัติเหตุทางถนนเพื่อทุกคนเดินทางด้วยความปลอดภัย

ทั้งนี้ บริษัท กลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด ได้มอบกรวยจราจร ให้แก่กองบัญชาการตำรวจนครบาล เพื่อสนับสนุนโครงการต่อไป หากหน่วยงานใดสนใจเข้าร่วมโครงการสามารถติดต่อได้ที่สายด่วนจราจร โทร. 1197 หรือที่บริษัทกลางฯ Call Center 1791

ข่าวเกี่ยวข้อง