CIVIL เผยทิศทางธุรกิจ โตต่อเนื่อง ลุยประมูลงานภาครัฐ-เอกชนงบ Q1/67 รายได้ 1,030 ลบ. อัตรากำไรขั้นต้นเพิ่ม 1.3%
CIVIL เผยทิศทางการดำเนินงาน แนวโน้มดี เดินหน้ารับรู้รายได้ต่อเนื่องจาก Backlog 22,804 ล้านบาท(ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) เพิ่มโอกาสการเข้าประมูลงานโครงการขนาดใหญ่ภาครัฐ-เอกชน รับภาพรวมอุตสาหกรรมก่อสร้างขยายตัว ด้านผลประกอบการไตรมาส 1/2567 รายได้รวม 1,030 ล้านบาท กำไรสุทธิ 25 ล้านบาท ชูอัตรากำไรขั้นต้นเพิ่มขึ้น 1.3% จากศักยภาพการบริหารต้นทุนภายในโครงการ
นายปิยะดิษฐ์ อัศวศิริสุข ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท ซีวิลเอนจีเนียริง จำกัด (มหาชน) หรือ CIVIL ผู้นำบริษัทก่อสร้างครบวงจรชั้นนำของไทย เปิดเผยถึง ทิศทางการดำเนินงานของบริษัท คาดว่าจะมีแนวโน้มที่ดีขึ้น จากการรับรู้รายได้งานก่อสร้างอย่างต่อเนื่อง ซึ่งปัจจุบัน (ข้อมูล ณ วันที่ 31 ธ.ค. 2566) บริษัทมีมูลค่างานในมือ จำนวน 22,804ล้านบาท (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม)
ขณะเดียวกัน บริษัทมีแผนการเพิ่มโอกาสการเข้าประมูลงานเพื่อสร้างการรับรู้รายได้ที่สะท้อนราคาต้นทุนปัจจุบัน สอดคล้องกับทิศทางการลงทุนและการพัฒนาประเทศของภาครัฐที่ชัดเจน โดยภาพรวมอุตสาหกรรมก่อสร้างในปี2567 มีแนวโน้มเติบโตตามมูลค่าการลงทุนก่อสร้างภาครัฐที่ขยายตัว 3.5-4.0% ต่อปี โดยเฉพาะผู้รับเหมางานก่อสร้างขนาดใหญ่ เนื่องจากเป็นกลุ่มที่มีศักยภาพและมีความพร้อมในการเข้ารับงาน
ทั้งนี้ บริษัทมุ่งเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงานโครงการให้ดียิ่งขึ้น เพื่อส่งมอบงานคุณภาพได้ตามแผน ด้วยความรวดเร็วและปลอดภัย อีกทั้งบริษัทให้ความสำคัญกับการบริหารต้นทุนของทั้งบริษัท รวมถึงดูแลและบริหารจัดการกลุ่มผู้รับเหมาช่วงอย่างใกล้ชิด
ขณะที่ผลประกอบการไตรมาส1/2567 บริษัทมีรายได้รวม 1,030 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีรายได้รวม 1,447 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 25 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 48 ล้านบาท
ด้านรายได้และกำไรลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน จากการรับรู้รายได้ที่ลดลงของการรับเหมาก่อสร้างในกลุ่มงานรถไฟ และงานอื่น ๆ ซึ่งอยู่ในช่วงระหว่างขั้นตอนการก่อสร้างที่ใช้ระยะเวลาดำเนินงานที่ยาวขึ้นจนกว่าจะรับรู้รายได้ได้ตามเงื่อนไข และเป็นช่วงรอยต่อจากการเข้าประมูลงานใหม่ในกลุ่มงานทาง
อย่างไรก็ตามบริษัทมีการปรับตัวของอัตรากำไรขั้นต้นที่ดีขึ้นจากเดิม9.3% เป็น 10.6% หรือเพิ่มขึ้น 1.3%จากความสามารถในการบริหารต้นทุนโครงการก่อสร้างขนาดเล็ก และ การรับรู้รายได้จากค่าเงินชดเชยงานก่อสร้าง (Escalation Factor หรือ ค่า K) งานโครงการในกลุ่มงานรถไฟ และ กลุ่มงานเขื่อนและอ่างเก็บน้ำ
“สำหรับแผนงานโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่จะมีช่วงเวลาการดำเนินงานที่สามารถรับรู้รายได้แตกต่างกันไปในแต่ละโครงการ ขึ้นอยู่กับข้อจำกัดในด้านที่ตั้งของโครงการ ระยะเวลาในการเข้าดำเนินงาน และ ความปลอดภัยของประชาชนที่อยู่อาศัยในพื้นที่ใกล้เคียง อย่างไรก็ตามบริษัทยังคงสามารถดำเนินงานได้ตามแผนและรับรู้รายได้จากโครงการในมืออย่างต่อเนื่อง อีกทั้งบริษัทมุ่งเน้นการสร้างการเติบโตยิ่งขึ้นด้วยแผนการเข้าประมูลงานโครงการขนาดใหญ่ที่มีคุณภาพทั้งภาครัฐและเอกชน โดยคาดว่าจะเริ่มมีการทยอยเปิดประมูลมากขึ้นภายหลังจากการอนุมัติงบประมาณปี 2567” นายปิยะดิษฐ์ กล่าว