GUNKUL แจกปันผลให้ผถห.อีก 0.12 บ./หุ้นโชว์กำไรปี’64 แตะ 2.22 พันลบ.-ปักธงปั๊มรายได้โตเฉลี่ยปีละ20%
บอร์ด บมจ.กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง (GUNKUL) ใจดี! สั่งจ่ายปันผลระหว่างกาลอัตรา 0.12 บาทต่อหุ้น กำหนดจ่ายวันที่ 23 พ.ค.นี้ หลังโชว์กำไรสุทธิปี’64 ส่วนที่เป็นของบริษัทใหญ่ แตะ 2,229.27 ล้านบาท ส่วนรายได้รวมเท่ากับ 9,868.13 ล้านบาท ฟากซีอีโอ "สมบูรณ์ เอื้ออัชฌาสัย" ระบุเดินหน้าขับเคลื่อนธุรกิจ ทั้งพลังงานทดแทน-EPC-ธุรกิจกัญชง กัญชา ตั้งเป้ารายได้โตปีละ 20% พร้อมอัดงบลงทุน 3 ปี (2565-2567) ไว้ที่ 20,000 ล้านบาท หนุนการเติบโตได้ต่อเนื่อง
บริษัท กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) (GUNKUL) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทได้มีมติอนุมัติให้จ่ายเงินปันผล สำหรับงวดครึ่งหลังปี 2564 จากกำไรในปีและกำไรสะสม ให้กับผู้ถือหุ้นเป็นเงินสดในอัตราหุ้นละ 0.12 บาท รวมเป็นเงินปันผลจ่ายทั้งสิ้นจำนวน 1,068 ล้านบาท ซึ่งบริษัทได้จ่ายเงินปันผลงวดครึ่งปีแรกไปแล้วในอัตราหุ้นละ 0.06 บาท รวมจ่ายเงินปันผลงวดปี 2564 ในอัตรา 0.18 บาทต่อหุ้น โดยกำหนดรายชื่อผู้ถือหุ้นที่มีสิทธิรับเงินปันผล (Record Date) ในวันที่ 6 พฤษภาคม 2565 วันที่ไม่ได้รับสิทธิปันผล (XD) คือวันที่ 5 พฤษภาคม 2565 และกำหนดจ่ายเงินปันผล ในวันที่ 23 พฤษภาคม 2565
สำหรับผลการดำเนินงานงวดปี 2564 (สิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2564) ผลกำไรส่วนที่เป็นของบริษัทใหญ่มีกำไรสุทธิ 2,229.27 ล้านบาท ส่วนรายได้รวมเท่ากับ 9,868.13 ล้านบาท
อย่างไรก็ตามบริษัทฯ มีกำไรในส่วนกำไรปกติของธุรกิจ (ไม่มีรายการจำหน่ายเงินลงทุน) จำนวน2,251.52 ล้านบาท เปรียบเทียบกับงวดเดียวกันกับปีก่อนแสดงเพียง 1,188.42 ล้านบาท ซึ่งถือว่ากำไรปกติของธุรกิจเติบโตขึ้น 90% โดยหากนับรวมกำไรจากการจำหน่ายเงินลงทุนจะแสดงจำนวน 3,425 ล้านบาท
ดร.สมบูรณ์ เอื้ออัชฌาสัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) (GUNKUL) เปิดเผยว่า ในช่วงที่ผ่านมาถือเป็นช่วงเวลาแห่งความท้าทายทั่วโลกที่เกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งการดำรงชีวิตและการดำเนินธุรกิจ เนื่องจากต้องเผชิญกับสถานการณ์ของไวรัสโควิด-19 ซึ่งกลุ่มบริษัทฯ ได้ให้ความสำคัญในการ Transform องค์กร ไม่ว่าจะเป็นการปรับกระบวนการทำงาน การบริหารจัดการธุรกิจพร้อมทั้งคว้าโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ ทำให้ธุรกิจของกลุ่มบริษัทในปี 2564 สามารถขับเคลื่อนและเติบโตตามเป้าหมายที่วางไว้
สำหรับกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจในปี 2565 กลุ่มบริษัทยังคงเร่งผลักดันการเติบโตธุรกิจทุกภาคส่วนโดยธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน ซึ่งคิดเป็น 60% ของยอดขายทั้งหมด ปัจจุบันบริษัทมีกำลังการผลิตในมือรวมทั้งสิ้น 642 เมกะวัตต์ ตั้งอยู่ในพื้นที่ประเทศไทย เวียดนาม มาเลเซีย และญี่ปุ่น ซึ่งปีนี้ตั้งเป้าหมายกำลังการผลิตเพิ่มเป็น 700 เมกะวัตต์ และเพิ่มกำลังการผลิตไปแตะระดับ 1,000 เมกะวัตต์ภายในปี 2566
โดยธุรกิจงานรับเหมาก่อสร้างและวางระบบทางด้านวิศวกรรม (EPC) คิดเป็นสัดส่วนรายได้ 21.41% ของรายได้รวม ปัจจุบันมีงานในมือ(Backlog) ประมาณ 4,500 ล้านบาท ซึ่งทยอยรับรู้รายได้ในอีก 2-3 ปีข้างหน้า ซึ่งปีนี้บริษัทมีแผนเตรียมเข้าร่วมประมูลโครงการใหม่ๆ ที่จะเปิดให้ประมูลกว่า 50,000 ล้านบาทและคาดว่าบริษัทมีโอกาสได้รับงานประมาณ 7-10% ของมูลค่างานทั้งหมด ขณะที่มีแผนจะนำ บริษัท กันกุล พาวเวอร์ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (GPD) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ GUNKUL และถือหุ้นใน บริษัท ฟิวเจอร์อีเล็คทริคอล คอนโทรล จำกัด (FEC) เข้าจดทะบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยภายในปี 2565
ธุรกิจกัญชง-กัญชา การเพาะปลูกและโรงสกัดยังดำเนินการได้ตามแผน ซึ่งประมาณต้นเดือนเมษายนนี้บริษัทจะเตรียมเปิดคลินิกแพทย์แผนไทยเพื่อให้บริการลูกค้า และจำหน่ายผลิตภัณ์กัญชง กัญชาปลายน้ำครบวงจร ณ อาคาร Pearl Bangkok ชั้น 2 ทั้งนี้ผู้สนใจสามารถเยี่ยมชม และเข้ารับบริการได้ตั้งแต่ต้นเดือนเมษายน 2565
ด้านธุรกิจ “โกดังไฟฟ้าดอทคอม” ตลาดออนไลน์ของอุปกรณ์ระบบไฟฟ้าและโซลาร์ร่วมมือกันระหว่างGUNKUL SPECTRUM หน่วยนวัตกรรมธุรกิจพลังงานของ บริษัท กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) กับเอสซีบี เท็นเอกซ์ (SCB 10X) ด้วยแนวคิด Add Energy To Cart จากการเปิดตัวมาเป็นระยะเวลาประมาณ 6 เดือน มียอดขายเป็นที่น่าพอใจและคาดว่าจะเป็นช่องทางการจำหน่ายที่เติบโตได้อย่างต่อเนื่องในอนาคต
ขณะเดียวกัน กลุ่ม GUNKUL ยังสร้างโอกาสทางธุรกิจโดยร่วมมือกับ บริษัท ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด(มหาชน) ORI จัดตั้งบริษัทร่วมทุน ภายใต้ชื่อ บริษัท ออริจิ้น กันกุล เอ็นเนอร์ยี จำกัด เพื่อร่วมกันดำเนินกิจการด้านพลังงานทดแทน/พลังงานสะอาดในโครงการที่อยู่อาศัยในกลุ่มธุรกิจบ้านจัดสรรภายใต้บริษัทบริทาเนีย จำกัด (มหาชน) BRI โดยในเฟสแรกจะเริ่มติดตั้งโซลาร์รูฟและนำร่องสัญญาซื้อขายพลังงานไฟฟ้าระยะยาว หรือ Private PPA (Power Purchase Agreement) กับพื้นที่ส่วนกลางโครงการ แกรนด์บริทาเนีย ราชพฤกษ์-พระราม 5 และโครงการแกรนด์ บริทาเนีย บางนา กม.12
นอกจากนี้ยังได้ร่วมมือกับ บริษัท เจ มาร์ท จำกัด (มหาชน) JMART และบริษัท ซิงเกอร์ประเทศไทย จำกัด(มหาชน) SINGER ตั้งบริษัทร่วมทุน ธุรกิจ Solar Rooftop-สถานีชาร์จรถไฟฟ้า (EV Charging Station)-กัญชง กัญชาเพื่อสุขภาพ-จำหน่ายอุปกรณ์ไฟฟ้าและโซลาร์โซลูชั่น เป็นการผสมผสานมิติเชิงพาณิชย์เสริมความแข็งแกร่งให้ธุรกิจเดิม ซึ่งจะทำให้พลังงานจับต้องได้ง่ายยิ่งขึ้น อีกทั้งยังยกระดับโครงสร้างพื้นฐานด้วยการทำธุรกิจ EV Charging Station ตอบรับกับวิสัยทัศน์ Zero-Carbon Ecosystem
ทั้งนี้ กลุ่ม GUNKUL เล็งเห็นการเติบโตและการขยายตัวของธุรกิจในอนาคต จึงวางงบลงทุนใน 3 ปี(2565-2567) ไว้ที่ 20,000 ล้านบาท เฉลี่ยประมาณ 7,000-8,000 ต่อปี โดยแบ่งลงทุนในธุรกิจพลังงานทดแทนประมาณ 15,000 ล้านบาท เพื่อซื้อโรงไฟฟ้าขนาด 400-500 เมกะวัตต์ ลงทุนในธุรกิจกัญชง2,000 ล้านบาท ส่วนที่เหลือประมาณ 3,000 ล้านบาท ลงทุนในธุรกิจงานก่อสร้างโรงงานและคลังสินค้า(Built-to-Suit) จำนวน 10 แห่ง ถือเป็นการเตรียมความพร้อมในการเติบโตของเครือบริษัท โดยกลุ่มบริษัท วางเป้าหมายการเติบโตไว้ไม่ต่ำกว่าปีละ 20%