COLOR โชว์งบ Q1/ 65 รายได้พุ่ง 19% ประเดิมรายได้ธุรกิจใหม่ซื้อเครื่องจักร Floating กำลังผลิต 15 MW อัพยอดเล็งขยายธุรกิจอุตสาหกรรมเกษตร-ก่อสร้าง ต่อยอดธุรกิจ
COLOR โชว์งบไตรมาส 1/64 รายได้รวม 333ล้านบาทเพิ่มขึ้น 19% กำไรสุทธิ 14.16 ล้านบาท ยอดขายเม็ดพลาสติกโตต่อเนื่อง บวกแรงส่งธุรกิจใหม่ Floating Solar เริ่มเปิดฉากรับรู้รายได้ พร้อมสั่งซื้อเครื่องจักรเพิ่มอีก 15 เมกะวัตต์ คาดติดตั้งภายในไตรมาส 3/65 นี้ ฟาก "พีรพันธ์ จิวะพรทิพย์"มั่นใจรายได้ปีนี้โต 15% ตามแผน แย้มเล็งขยายธุรกิจใหม่ พุ่งเป้าด้านการเกษตร-ก่อสร้าง คาดชัดเจนภายในปีนี้ต่อยอดธุรกิจ
นายพีรพันธ์ จิวะพรทิพย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท สาลี่ คัลเล่อร์ จำกัด (มหาชน) (COLOR) ผู้ผลิตและจำหน่ายเม็ดพลาสติกมาสเตอร์แบตซ์ เม็ดพลาสติกคอมพาวด์ และสีผสมพลาสติกชนิดผง เปิดเผยว่า ผลประกอบการในไตรมาส 1/2565 (สิ้นสุดวันที่ 31 มีนาคม 2565) มีรายได้รวมอยู่ที่ 333 ล้านบาท เพิ่มขึ้น53 ล้านบาท หรือ 19% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนอยู่ที่ 280 ล้านบาท กำไรสุทธิ 14.16 ล้านบาท
ปัจจัยที่สนับสนุน เนื่องจากยอดขายในส่วนธุรกิจผลิตเม็ดพลาสติก ซึ่งเป็นธุรกิจหลักมียอดขายเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะสินค้าที่เกี่ยวข้องกับพลาสติกที่เกี่ยวข้องกับสินค้า บรรจุภัณฑ์ อุปโภคบริโภค และผลิตภัณฑ์พลาสติกเกี่ยวข้องอื่นๆเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะช่วงสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ยอดใช้ผลิตภัณฑ์ประเภทถาด ถ้วย ถุง ต่างๆ ที่จำเป็นต่อการใช้ในอุตสาหกรรมอาหาร ปรับตัวเพิ่มขึ้น
นอกจากนี้ ยังรับรู้รายได้เพิ่มจากธุรกิจใหม่ พลังงานทดแทน ผลิตทุ่นโซลาร์ลอยน้ำ (Floating Solar) เพื่อใช้สำหรับระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ แบบติดตั้งบนทุ่นลอยน้ำ (Floating PV System) ขนาดกำลังการผลิต 15 เมกะวัตต์
กรรมการผู้จัดการ COLOR กล่าวอีกว่า การผลิต Floating กำลังการผลิต 15 เมกะวัตต์ ปัจจุบันบริษัทฯได้มีการสั่งซื้อเครื่องจักรเพื่อเพิ่มกำลังการผลิตทุนลอยน้ำ สำหรับพลังงานแสงอาทิตย์เพิ่มอีก 15 เมกะวัตต์คาดว่าจะได้รับและติดตั้งเครื่องจักรภายในไตรมาส 3/65 ส่งผลให้กำลังการผลิตเพิ่มเป็น 30 เมกะวัตต์เพื่อรองรับความต้องการของลูกค้าที่มีสูง ซึ่งจะช่วยผลักดันการสร้างรายได้ นอกเหนือจากธุรกิจผลิตเม็ดพลาสติก ที่สร้างรายได้หลัก โดยตั้งเป้าธุรกิจใหม่จะสร้างรายได้อยู่ที่ 10-15% ของรายได้รวมใน 1-2 ปีข้างหน้า
อีกทั้ง ยังอยู่ระหว่างการศึกษาและพัฒนาธุรกิจใหม่ๆ เน้นที่ อุตสาหกรรมเกษตร และอุตสาหกรรมก่อสร้าง ซึ่งในส่วนของอุตสาหกรรมเกษตรปัจจุบันอยู่ระหว่างการทำวิจัยและพัฒนา ประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม และบริษัทฯต้องการเพิ่มศักยภาพให้เกษตรกร เพราะสินค้าที่เราพัฒนา จะเป็นสินค้านวัตกรรมที่จะสร้าง productivity ทำให้คุณสมบัติของสินค้าเกษตรมีมูลค่าสูงขึ้น ลดต้นทุนให้เกษตรกร เช่น การพัฒนาให้พืชที่ปลูกมีอัตราการโตจะเร็วขึ้น และมีผลผลิตที่เพิ่มขึ้น เป็นต้น คาดเห็นความชัดเจนภายในปีนี้ เพื่อต่อยอดธุรกิจเดิม