'กรมเจรจาฯ' โชว์ผลสำเร็จ 15 ปี FTA ไทย-ออสซี่ และไทย-กีวี ดันการค้าพุ่งกว่า 200%

'กรมเจรจาฯ' โชว์ผลสำเร็จ 15 ปี FTA ไทย-ออสซี่ และไทย-กีวี ดันการค้าพุ่งกว่า 200%

'กรมเจรจาฯ' โชว์ผลสำเร็จ 15 ปี FTA ไทย-ออสซี่ และไทย-กีวี ดันการค้าพุ่งกว่า 200%
พร้อมชวนผู้ประกอบการใช้ประโยชน์ ขยายการส่งออก เพิ่มโอกาสการค้าไทย
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เผยผลสำเร็จ FTA 2 ฉบับ โดยความตกลงการค้าเสรีไทย–ออสเตรเลีย (TAFTA) ส่งผลให้การค้าระหว่างสองประเทศขยายตัวกว่า 160.1% ในปี 2561 เช่นเดียวกับความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจที่ใกล้ชิดยิ่งขึ้นไทย-นิวซีแลนด์ (TNZCEP) ที่ขยายตัวเป็นที่น่าพอใจ ส่งผลให้การค้าสองฝ่ายขยายตัวกว่า 208.3% พร้อมชวนผู้ประกอบการเร่งใช้ประโยชน์ ขยายการส่งออกและการค้า

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ความตกลงการค้าเสรีไทย–ออสเตรเลีย (TAFTA) ซึ่งใช้บังคับตั้งแต่ต้นปี 2548 หรือเกือบ 15 ปีมาแล้ว ได้ส่งผลให้การค้าระหว่างสองประเทศขยายตัวกว่า 160.1% เป็น 16,712.5 ล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2561 ขณะที่ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจที่ใกล้ชิดยิ่งขึ้นไทย-นิวซีแลนด์ (TNZCEP)  ซึ่งใช้บังคับตั้งแต่กลางปี 2548 ได้ส่งผลให้การค้าสองฝ่ายขยายตัวเป็นที่น่าพอใจเช่นกัน โดยขยายตัวกว่า 208.3% เป็น 2,385.5 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2561 ทั้งนี้ สืบเนื่องจากออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ได้ลดภาษีสินค้าให้ไทยเหลือ 0% ทุกรายการสินค้าแล้ว ตั้งแต่ปี 2558 ภายใต้เอฟทีเอทั้งสองฉบับดังกล่าว ขณะที่ไทยจะทยอยลดภาษีสินค้าทั้งหมดให้ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์เหลือ 0% เช่นกันภายในปี 2568

นางอรมน เสริมว่า จากการติดตามข้อมูลการใช้สิทธิเอฟทีเอภายใต้ TAFTA ในปี 2561 พบว่า ไทยมีการส่งออกไปออสเตรเลียโดยใช้สิทธิถึง 8,276.7 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 89.3% ของมูลค่าการส่งออกสินค้าที่ได้รับสิทธิ เพิ่มขึ้นกว่าปีก่อนหน้า 2.7% ขณะที่นำเข้าโดยใช้สิทธิ FTA ไทย – ออสเตรเลีย 634.5 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 10.7% ของการนำเข้ารวม โดยสินค้าส่งออกที่มีการใช้สิทธิ TAFTA สูงเป็นอันดับต้นๆ ได้แก่ รถบรรทุกขนส่งขนาดไม่เกิน 5 ตัน รถยนต์ส่วนบุคคล ปลาทูน่าปรุงแต่ง เครื่องปรับอากาศ และโพลีเอทิลีน เป็นต้น ขณะที่สินค้านำเข้าที่มีการใช้สิทธิ TAFTA สูงเป็นอันดับต้นๆ ได้แก่ แผ่นเหล็กรีดร้อน ข้าวบาร์เลย์ เนย ไขมันและน้ำมันอื่นๆ และนมผง เป็นต้น สำหรับกรณีการใช้สิทธิเอฟทีเอภายใต้ TNZCEP  เนื่องจากเป็นการใช้ระบบการรับรองตนเองของผู้ส่งออกว่าสินค้าที่ส่งออกไปมีถิ่นกำเนิดจากประเทศคู่เอฟทีเอ หรือ Self-Declaration จึงไม่ต้องมาขอใบรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า จึงไม่มีการเก็บตัวเลขการใช้สิทธิประโยชน์ของการส่งออกภายใต้ TNZCEP อย่างไรก็ดี จากสถิติการค้าระหว่างไทยและนิวซีแลนด์ที่มีการขยายตัวอย่างก้าวกระโดดนับตั้งแต่ความตกลงมีผลใช้บังคับ เห็นได้ว่าเอฟทีเอช่วยให้การค้าระหว่างประเทศเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงขอให้ผู้ประกอบการไทยใช้โอกาสในการที่ไทยมีการจัดทำเอฟทีเอกับประเทศคู่ค้าถึง 18 ประเทศ รวม 13 ฉบับ เช่น อาเซียน จีน ญี่ปุ่น เกาหลี อินเดีย และฮ่องกง เป็นต้น เร่งขยายการส่งออกและการค้าของไทยกับประเทศคู่เอฟทีเอ

ทั้งนี้ มูลค่าการค้าระหว่างไทยกับออสเตรเลียในปี 2561 เป็น 16,712.5 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวจากปีก่อนหน้ากว่า 12% โดยไทยส่งออกไปออสเตรเลีย 10,777.6 ล้านเหรียญสหรัฐ และนำเข้าจากออสเตรเลีย 5,935 ล้านเหรียญสหรัฐ สินค้าส่งออกหลักสำคัญของไทยไปออสเตรเลีย ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ เม็ดพลาสติก อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป และผลิตภัณฑ์ยาง และสินค้านำเข้าสำคัญของไทยจากออสเตรเลีย ได้แก่ เครื่องเพชรพลอย อัญมณี เงินแท่งและทองคำ น้ำมันดิบ สินแร่โลหะอื่นๆ เศษโลหะและผลิตภัณฑ์ ถ่านหิน และพืชและผลิตภัณฑ์จากพืช เป็นต้น ขณะที่มูลค่าการค้าระหว่างไทยกับนิวซีแลนด์ ในปี 2561 เป็น 2,385.5 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวจากปีก่อน 4.5% โดยไทยส่งออกไปนิวซีแลนด์ 1,666.5 ล้านเหรียญสหรัฐ และนำเข้าจากนิวซีแลนด์ 719 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยสินค้าส่งออกหลักสำคัญของไทยไปนิวซีแลนด์ ได้แก่ รถยนต์และอุปกรณ์ เม็ดพลาสติก เครื่องปรับอากาศ ผลิตภัณฑ์ยาง และเหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ ส่วนสินค้านำเข้าที่สำคัญ อาทิ นมและผลิตภัณฑ์นม ผัก ผลไม้และของปรุงแต่งที่ทำจากผักผลไม้ เยื่อกระดาษและเศษกระดาษ ไม้ซุง ไม้แปรรูป และเนื้อสัตว์ เป็นต้น

ข่าวเกี่ยวข้อง