NER เผยกำไรสุทธิ Q1/65 กว่า 468 ล้านบาท เติบโต 27.97%จากยอดขายที่เพิ่มขึ้น มั่นใจโตต่อเนื่อง
บมจ.นอร์ทอีส รับเบอร์ (NER) แจ้งงบไตรมาส 1 ปี 2565 กำไรสุทธิอยู่ที่ 468.89 ล้านบาท เพิ่มขึ้น27.97% ด้านรายได้จากการขายรวมอยู่ที่ 5,592.61 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 12.68% จากคำสั่งซื้อของลูกค้าต่างประเทศเพิ่มขึ้นและการบริหารต้นทุนวัตถุดิบของบริษัทได้อย่างมีประสิทธิภาพ สำหรับเป้าหมายการเติบโตในอีก 9 เดือนเตรียมงบลงทุน 540 ล้านบาท เพื่อขยายกําลังการผลิตยางพารา แผ่นปูรองปศุสัตว์ งบวิจัยและพัฒนาสินค้าปลายน้ำ พร้อมแผนลดต้นทุนและค่าใช้จ่าย
นายชูวิทย์ จึงธนสมบูรณ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท นอร์ทอีส รับเบอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ NERดำเนินธุรกิจผลิตและจำหน่ายยางแผ่นรมควัน ยางแท่ง และยางผสม เพื่อจำหน่ายไปยังผู้ผลิตในอุตสาหกรรมยานยนต์ และกลุ่มผู้ค้าคนกลาง ทั้งในและต่างประเทศ เปิดเผยภาพรวมผลการดำเนินงานไตรมาส 1 ปี 2565 สิ้นสุดวันที่ 31 มีนาคม 2565 บริษัทมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 468.89 ล้านบาท เพิ่มขึ้น102.39 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 27.94% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน คิดเป็นกำไรต่อหุ้นขั้นพื้นฐาน 0.266 บาทต่อหุ้น
สำหรับปริมาณขาย 96,350 ตัน เพิ่มขึ้น 6,609 ตัน หรือเพิ่มขึ้น 7.36% คิดเป็นรายได้จากการขายรวม5,592.61 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 629.52 ล้านบาทหรือเพิ่มขึ้น 12.68% แบ่งเป็นรายได้จากการขายในประเทศ3,222.30 ล้านบาท หรือคิดเป็น 57.62% และรายได้จากการขายต่างประเทศ 2,370.31 ล้านบาท หรือคิดเป็น 42.38% ของยอดขายรวม โดยยอดขายต่างประเทศเพิ่มขึ้น 862.28 ล้านบาทหรือเพิ่มขึ้น 57.18%
ปัจจัยสำคัญที่ทำให้รายได้ในไตรมาส 1/2565 เพิ่มขึ้นมาจากการที่บริษัทได้รับคำสั่งซื้อของลูกค้าต่างประเทศเพิ่มขึ้น สำหรับรายได้ที่เพิ่มขึ้นเกิดจากปัจจัยด้านปริมาณขายและราคาขายที่ขยับตัวสูง แบ่งเป็นผลต่างปริมาณเพิ่มขึ้นที่ 205.91 ล้านบาท และผลต่างราคาปรับตัวสูงขึ้นที่ 423.61 ล้านบาท นอกจากนี้ต้นทุนวัตถุดิบของบริษัทลดลงเกิดจากการบริหารการซื้อและใช้วัตถุดิบได้อย่างมีประสิทธิภาพ และการบริหารความเหมาะสมระหว่างราคาซื้อและราคาขายได้ค่อนข้างดี ประกอบกับการปรับตัวของราคายางพาราในทิศทางขาขึ้นส่งผลดีกับผลการดำเนินงานของบริษัท
นายชูวิทย์ กล่าวเพิ่มเติมถึงเป้าหมายการเติบโตในอีก 9 เดือนว่าบริษัทตั้งงบลงทุนไว้ที่ประมาณ 540 ล้านบาท เพื่อขยายกําลังการผลิตยางพารา แผ่นปูรองปศุสัตว์ งบวิจัยและพัฒนาสินค้าปลายน้ำ พร้อมแผนลดต้นทุนและค่าใช้จ่ายบริษัท โดยแบ่งการลงทุนได้ดังนี้
1.) งบลงทุน 90 ล้านบาทแรก ขยายกําลังการผลิตยางแท่งแห่งที่ 2 โดยการลงทุนเครื่องมือ เครื่องจักรเพื่อเพิ่มกําลังการผลิตได้อีก 5 หมื่นตัน/ปี ทําให้กําลังการผลิตเพิ่มขึ้นเป็น 5.16 แสนตัน/ปี นอกจากนี้บริษัทได้เจรจากับโรงงานยางเพื่อให้แปรรูปยาง STR ผ่าน OEM ซึ่งเป็นการเพิ่มกําลังการผลิตรวมได้อีกราว 4 หมื่นตัน/ปี ทําให้กําลังการผลิตของบริษัทเพิ่มขึ้นเป็น 5.56 แสนตัน/ปี
2.) โครงการแผ่นปูรองปศุสัตว์ เพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้า ปัจจุบันอยู่ระหว่างนำเข้าเครื่องจักร กําลังการผลิตอยู่ที่ 1 ล้านชิ้น/ปี งบลงทุนราว 210 ล้านบาท
3.) โครงการติดตั้งแผงโซล่าร์เซลล์ เพื่อประหยัดพลังงานและลดค่าใช้จ่าย โดยติดตั้งเพิ่ม 4 เมกกะวัตต์ส่งผลให้ในปี 2565 บริษัทจะมีแผงโซล่าร์เซลล์รวม 5 เมกกะวัตต์ ใช้งบลงทุน 100 ล้านบาท คาดจะช่วยลดค่าไฟฟ้าได้ราว 12 ล้านบาท/ปี
4.) โครงการหุ่นยนต์ดึงยาง เป็นการนําหุ่นยนต์ดึงยางเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและความรวดเร็วในสายการผลิตและลดต้นทุนแรงงาน ใช้งบลงทุน 40 ล้านบาท
5.) โครงการก่อสร้างศูนย์วิจัยและพัฒนาสินค้าสําเร็จรูปสําหรับสินค้าในกลุ่มปลายน้ำเพื่อเพิ่มรายได้และประสิทธิภาพการทํากำไรในระยะยาว งบลงทุน 100 ล้านบาท
สำหรับภาพรวมอุตสาหกรรมยางพาราธรรมชาติอยู่ในช่วงฟื้นตัว ก่อนหน้านี้เกิดมาจากซัพพลายของอินโดนีเซียที่หายไป และคาดว่าอีก 3 ปี จะมีซัพพลายออกมาในตลาด รวมทั้ง อุตสาหกรรรมยานยนต์ที่ใช้พลังงานไฟฟ้า มีแนวโน้มที่ดีขึ้น เนื่องจากรถไฟฟ้าที่ผลิตในประเทศจีน เริ่มเป็นที่ยอมรับมากขึ้นและเจาะตลาดรถยนต์ได้ในหลายประเทศ