TSE มาตามนัด COD โรงไฟฟ้าญี่ปุ่น 133 MWจ่อบุ๊กรายได้-กำไรเข้าไตรมาส 2/66 ทันทีลุ้นล็อตสองจากกกพ.ได้เพิ่มอีกไม่ต่ำกว่า 150 MW
บมจ.ไทย โซล่าร์ เอ็นเนอร์ยี่ (TSE) แจกข่าวดีรัวๆ ล่าสุดเสียบปลั๊กขายไฟโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ Onikoube ในประเทศญี่ปุ่น จำนวน 133 เมกะวัตต์ ฟากซีอีโอ “ดร.แคทลีน มาลีนนท์” ระบุเริ่มรับรู้รายได้ทันทีตั้งแต่ไตรมาส 2/66 ดันผลงานสดใส พร้อมเดินหน้าเข้าประมูลโรงไฟฟ้ากกพ.เพิ่ม ตั้งเป้าชนะอีกไม่ต่ำกว่า 150 เมกะวัตต์
ดร. แคทลีน มาลีนนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทย โซล่าร์ เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน)(TSE) เปิดเผยว่า ในวันนี้ (10 พฤษภาคม 2566) โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ Onikoube ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ที่จังหวัด Miyagi ในญี่ปุ่น กำลังการผลิตติดตั้ง 147 เมกะวัตต์ โดยมีสัญญารับซื้อไฟฟ้าที่133 เมกะวัตต์ ด้วยอัตราค่าไฟฟ้า FiT ที่ 36 เยนต่อหน่วย ได้เริ่มเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ (COD) เรียบร้อยแล้ว ทำให้บริษัทสามารถเริ่มรับรู้รายได้และกำไรได้ทันทีในไตรมาส 2/66 ซึ่งผลักดันผลการดำเนินงานของบริษัทฯในปีนี้เติบโตอย่างแข็งแกร่ง พร้อมกันนี้ประเมินว่าโครงการดังกล่าวจะสามารถสร้างรายได้ไม่น้อยกว่า 1,000 ล้านบาท
ก่อนหน้านี้ TSE เพิ่งจะลงนามในหนังสือบันทึกข้อตกลงรับทราบและยอมรับเงื่อนไขการลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้า โครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed - in Tarif (FT) โดยสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ปี 2565-2573 จำนวน 7 โครงการ กำลังผลิตรวมกว่า88.66 เมกะวัตต์ แบ่งเป็นโครงการขนาด SPP จำนวน 2 โครงการ, โครงการ VSPP จำนวน 4 โครงการและโครงการโซลาร์+แบตเตอรี่ จำนวน 1 โครงการ
บริษัทยังเตรียมเข้าร่วมประมูลโครงการจัดหาไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน รอบ 2 ของ กกพ.ซึ่งมีโควตารับซื้อออกมา 3,600 เมกะวัตต์ ซึ่งบริษัทฯคาดว่าจะได้กำลังการผลิตเพิ่มขึ้นอีก ไม่ต่ำกว่า 150 เมกะวัตต์
ปัจจุบัน TSE มีโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทั้งในประเทศไทยและประเทศญี่ปุ่น รวมทั้งโรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวลในประเทศไทย รวมทั้งหมด 35 โครงการ ขนาดกำลังการผลิตรวม 286.2 เมกะวัตต์ เดินเครื่องเชิงพาณิชย์แล้ว (COD) แบ่งเป็น โรงไฟฟ้าในประเทศ ขนาดกำลังการผลิตรวม 153.2 เมกะวัตต์และโรงไฟฟ้าประเทศญี่ปุ่น ขนาดกำลังการผลิตรวม 133 เมกะวัตต์
นอกจากนี้ บริษัทอยู่ระหว่างการศึกษาโครงการพลังงานต่อเนื่อง เช่นโครงการ Waste to Energy การเปลี่ยนขยะให้เป็นพลังงาน และสร้างกลไกการเข้าถึงคาร์บอนเครดิต เพื่อต่อยอดในการสร้างรายได้ในอนาคต อีกทั้งเริ่มศึกษาธุรกิจเพื่อความยั่งยืนด้านการดูแลรักษาสุขภาพและความงามอย่างครบวงจรโดยการสร้างเครือข่ายทางการแพทย์เริ่มตั้งแต่การให้กำเนิดบุตร การป้องกัน การดูแลรักษา และการฟื้นฟู ให้ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายอย่างบูรณาการในเร็วๆนี้