คมนาคมและกรมเจ้าท่า กดปุ่มให้ EA เปิดทดลองให้บริการเรือโดยสารไฟฟ้าแล้ว

คมนาคมและกรมเจ้าท่า กดปุ่มให้ EA เปิดทดลองให้บริการเรือโดยสารไฟฟ้าแล้ว

  บมจ.พลังงานบริสุทธิ์ นำเรือโดยสารพลังงานไฟฟ้า MINE Smart Ferry อวดรูปโฉมสวยงาม ทันสมัยด้วยนวัตกรรมฝีมือคนไทย 100% และได้จดทะเบียนเป็นเรือโดยสารไฟฟ้าลำแรกของประเทศไทยโชว์ความสำเร็จจากการร่วมมือกับกรมเจ้าท่า จนสามารถเริ่มให้บริการเป็นเรือไฟฟ้าสายแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นรายแรกแล้ววันนี้! พร้อมกับนำเทคโนโลยีมาปรับปรุงท่าเรือเป็น Smart Pier ส่งเสริมให้เป็นทางเลือกใหม่ในการเดินทางในแม่น้ำเจ้าพระยาที่ไร้มลพิษ ลดปัญหาฝุ่น PM2.5  และประหยัดพลังงาน เริ่มเปิดทดลองให้บริการฟรีจนถึงกลางเดือนกุมภา 64  เชื่อมต่อระบบขนส่งมวลชนด้วย "เรือ-รถ-ราง" ตอบโจทย์ผู้เดินทางด้วยระบบคมนาคมแบบไร้รอยต่อ 

   นายสมโภชน์ อาหุนัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2563 กระทรวงคมนาคม และกรมเจ้าท่าได้เรียนเชิญพลเอก ประยุทธ์จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการทดลองเรือโดยสารพลังงานไฟฟ้าในแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งเป็นเรือไฟฟ้าที่กลุ่ม EA ออกแบบและสร้างขึ้น โดยใช้ชื่อเรือว่า MINE  Smart Ferryพร้อมทั้งเปิดโครงการนำร่องท่าเรืออัจฉริยะ (Smart Pier) ณ ท่าเรือสะพานพุทธ เพื่อรองรับการส่งเสริมการเดินทางขนส่งมวลชนทางน้ำ จึงนับเป็นผลสำเร็จจากการร่วมมือของกลุ่ม EA กับภาครัฐ โดยการนำเทคโนโลยีแบตเตอรี่ลิเที่ยมไอออนที่ผลิตในกลุ่มของ EA มาพัฒนาสำหรับใช้กับยานยนต์ไฟฟ้าเพื่อการขนส่งมวลชนขนาดใหญ่เป็นครั้งแรกในประเทศไทย ด้วยความจุถึง 800 กิโลวัตต์ชั่วโมง และสามารถอัดประจุไฟฟ้าจากสถานีชาร์จ EA Anywhere เทคโนโลยีของกลุ่ม EA ได้ด้วยเวลาเพียง 20 นาที จึงนับเป็นจุดสำคัญของการสร้างความเชื่อมั่นในการพัฒนาเทคโนโลยีที่กลุ่ม EA มีเพื่อขยายไปยังยานยนต์ไฟฟ้าประเภทอื่นๆ ต่อไป โดยใช้พลังงานไฟฟ้าที่บรรจุในแบตเตอรี่ลิเที่ยมไอออนที่กลุ่ม EA สามารถผลิตได้เอง ซึ่งในที่สุดจะส่งผลดีต่อประเทศ ทั้งด้านการประหยัดพลังงาน ลดมลพิษ และการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกันของไทย 

  นาวาโทปริญญา รักวาทิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อี สมาร์ท ทรานสปอร์ต จำกัด บริษัทย่อยของ EA กล่าวถึงโครงการเรือโดยสารพลังงานไฟฟ้าว่า MINE Smart Ferry ซึ่งได้รับรางวัลเกียรติคุณในการประกวดนวัตกรรมแห่งชาติ ปี 2563 จากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ และได้รับการจดทะเบียนจากกรมเจ้าท่าให้เป็นเรือโดยสารพลังงานไฟฟ้าลำแรกของประเทศไทย เรือนี้ได้ถูกออกแบบให้ตัวเรือทำจากอลูมิเนียม เป็นเรือสองท้อง (Catamaran) ทำให้การทรงตัวดีเยี่ยม สามารถขับเคลื่อนได้ด้วยความเร็วสูงสุดถึง 18 น๊อต เรือมีขนาดกว้าง 7 เมตร และยาว 24 เมตร สามารถรองรับผู้โดยสารได้สูงสุดถึง 250 คน ภายในเรือติดระบบปรับอากาศ  มีระบบตั๋วโดยสารอัตโนมัติสามารถซื้อตั๋วผ่านแอพพลิเคชั่นและพร้อมรองรับระบบตั๋วร่วมกับระบบขนส่งทุกประเภทได้ในอนาคต  นอกจากนี้ในเรือมีจอให้ข้อมูลการเดินทาง และระบบประกาศให้ผู้โดยสารทราบข้อมูลตลอดการเดินทาง พร้อมอุปกรณ์ความปลอดภัยตามมาตรฐานที่กรมเจ้าท่ากำหนด  บริษัทมีโครงการที่จะผลิตเรือเพื่อให้บริการทั้งหมด 27 ลำ ซึ่งจะสามารถประหยัดน้ำมันดีเซลได้ถึง 4,730,000 ลิตรต่อปี และช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงได้ถึง 12,771 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี สำหรับช่วงการเริ่มทดลองให้บริการจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 23 ธันวาคม2563 ถึงวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2564 โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย และมีเส้นทางให้บริการตั้งแต่ ท่าสะพานพระราม5 ถึงท่าสาทร

 นอกจากนี้ กลุ่ม EA ได้ร่วมมือกับกรมเจ้าท่า ในโครงการปรับปรุงท่าเรือต่างๆ ทั้งด้านอารยะสถาปัตย์เพื่อความสวยงาม และการนำเทคโนโลยีมาใช้ในระบบการบริหารจัดการให้ทันสมัย ปลอดภัย และสะดวกยิ่งขึ้น โดยเริ่มนำร่องจากการพัฒนาท่าเรือสะพานพุทธให้เป็นท่าเรืออัจฉริยะ (Smart Pier) มีการติดตั้ง Digital Signage เพื่อแจ้งข้อมูลการบริการ  การออกตั๋วด้วยเครื่องอัตโนมัติ การใช้อุปกรณ์ตรวจจับสิ่งผิดปกติเพื่อความปลอดภัย เป็นต้น 

   โครงการเรือโดยสารพลังงานไฟฟ้านี้ เป็นส่วนสำคัญของการร่วมกับ กระทรวงคมนาคมและกรมเจ้าท่า ในการดำเนินการตามแผนพัฒนาระบบการคมนาคมขนส่งที่หันมาให้ความสำคัญกับการนำพลังงานไฟฟ้ามาใช้แทนน้ำมันเชื้อเพลิงมากขึ้น เพื่อให้สอดรับกับแผนการพัฒนาประเทศ การลดปัญหาการจราจรทางบก ลดมลภาวะ และเพื่อความสะดวกสบายของประชาชน ด้วยการเชื่อมต่อการเดินทางด้วยยานยนต์ไฟฟ้าเต็มรูปแบบทั้งระบบ เรือ-รถ-ราง ตามนโยบายการคมนาคมไร้รอยต่อ (Seamless Transportation) 

 

ข่าวเกี่ยวข้อง