ธุรกิจ ‘แพลตฟอร์ม’ และ ‘ซอฟต์แวร์’ ผู้ช่วย SMEs ไทย ผ่านพ้นวิกฤตธุรกิจ
กรมพัฒนาธุรกิจการค้า เผยภาคธุรกิจไทยใช้บริการธุรกิจ ‘แพลตฟอร์ม’ และ ‘ซอฟต์แวร์’ เป็นช่องทางเชื่อมต่อ ‘ผู้ซื้อ - ผู้ขาย’ บนโลกออนไลน์มากขึ้น เพิ่มโอกาสการเข้าถึงผู้บริโภค หาพันธมิตรทางธุรกิจ และเป็นเครื่องมือสำคัญช่วยขยายตลาดอย่างมีประสิทธิภาพ สร้างแต้มต่อทางการค้าสู้ธุรกิจรายใหญ่ ขณะที่ ธุรกิจแพลตฟอร์มและซอฟต์แวร์เติบโตต่อเนื่อง ภาคธุรกิจเข้าแย่งชิงส่วนแบ่งการตลาดอย่างคึกคัก เฉพาะ 9 เดือน ปี 2567 จดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจใหม่ 913 ราย ทุน 1,694 ล้านบาท การลงทุนในธุรกิจของชาวต่างชาติ...นักธุรกิจ ‘สิงคโปร์’ เข้าลงทุนใน 2 ธุรกิจ แตะ 1 หมื่นล้านบาท รองลงมาคือ ไต้หวัน และมาเลเซีย
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า “กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ได้ทำการวิเคราะห์ธุรกิจที่มีความโดดเด่นและเป็นปัจจัยสนับสนุนเศรษฐกิจประเทศให้เติบโตอย่างเข้มแข็ง ล่าสุดพบว่า ภาคธุรกิจไทยใช้บริการธุรกิจ ‘แพลตฟอร์ม’ และ ‘ซอฟต์แวร์’ เป็นช่องทางเชื่อมต่อ ‘ผู้ซื้อ - ผู้ขาย’ บนโลกออนไลน์มากขึ้น เพิ่มโอกาสการเข้าถึงผู้บริโภค หาพันธมิตรทางธุรกิจ และเป็นเครื่องมือสำคัญช่วยขยายตลาดอย่างมีประสิทธิภาพ สร้างแต้มต่อทางการค้าสู้ธุรกิจรายใหญ่
ธุรกิจแพลตฟอร์มและซอฟต์แวร์เข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันและช่วยให้ผู้บริโภคเข้าถึงสินค้า/บริการต่างๆ ได้สะดวกมากขึ้น ทั้งด้านการเงิน สุขภาพ ไลฟ์สไตล์ การท่องเที่ยว การศึกษา และการดำเนินธุรกิจ เช่น แพลตฟอร์มซื้อขายออนไลน์ e-Marketplace แพลตฟอร์มบริการจองที่พัก แพลตฟอร์มเรียกรถ แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียต่างๆ เป็นต้นนอกจากนี้ ธุรกิจซอฟต์แวร์ได้เข้ามาสนับสนุนการบริหารจัดการธุรกิจ เช่น ซอฟต์แวร์การบัญชี ซอฟต์แวร์การบริหารงานบุคคลซอฟต์แวร์วิเคราะห์พฤติกรรมลูกค้า ช่วยให้ธุรกิจมีโอกาสเข้าถึงผู้บริโภคกลุ่มต่างๆ เพิ่มขึ้นธุรกิจแพลตฟอร์มและซอฟต์แวร์จึงเป็นตัวช่วยทางธุรกิจที่สำคัญสำหรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการรายเล็กให้สามารถแข่งขันกับธุรกิจรายใหญ่ผ่านช่องทางดิจิทัล เข้าถึงกลุ่มลูกค้าได้มากขึ้น ช่วยลดต้นทุนในการประกอบธุรกิจ รวมทั้ง
สร้างความพึงพอใจให้ทั้งผู้ขายและลูกค้าตั้งแต่วิธีการชำระเงินจนถึงการบริการหลังการขาย ธุรกิจแพลตฟอร์มและซอฟต์แวร์จึงเปรียบเสมือนผู้ช่วยเอสเอ็มอีไทยให้ผ่านพ้นวิกฤตธุรกิจที่กำลังเผชิญไปได้
อธิบดีอรมน กล่าวต่อว่า ธุรกิจแพลตฟอร์มและซอฟต์แวร์มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ภาคธุรกิจเข้ามาแย่งชิงส่วนแบ่งทางการตลาดในประเทศไทยอย่างคึกคักสอดคล้องกับจำนวนการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจตลอด 5 ปีที่ผ่านมาทั้งจำนวนการจัดตั้งและมูลค่าทุนจดทะเบียน โดย ปี 2562 จดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจ 976 ราย ทุนจดทะเบียน 2,159.23 ล้านบาท ปี 2563 จัดตั้ง 1,074 ราย (เพิ่มขึ้น 98 ราย หรือ 10.04%) ทุน 2,333.81 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 174.58 ล้านบาท หรือ 8.09%) ปี 2564 จัดตั้ง 1,551 ราย (เพิ่มขึ้น 477 ราย หรือ 44.42%) ทุน 2,952.80 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 618.99 ล้านบาท หรือ 26.53%) ปี 2565 จัดตั้ง 1,162 ราย (ลดลง 389 ราย หรือ 25.08%) ทุน 2,857.57 ล้านบาท (ลดลง 95.23 ล้านบาท หรือ 3.23%) ปี 2566 จัดตั้ง 1,111 ราย (ลดลง 51 ราย หรือ 4.39%) ทุน 2,480.82 ล้านบาท (ลดลง 376.75 ล้านบาท หรือ 13.19%) ปี 2567 (เดือนมกราคม - กันยายน) จัดตั้ง 913 ราย ทุน 1,693.81 ล้านบาท
ปัจจุบันธุรกิจแพลตฟอร์มและซอฟต์แวร์ ดำเนินกิจการอยู่จำนวนทั้งสิ้น 10,069 ราย (แพลตฟอร์ม 1,760 ราย ซอฟต์แวร์ 8,309 ราย) ทุนจดทะเบียนรวม390,663.69 ล้านบาท (แพลตฟอร์ม 47,560.44 ล้านบาท ซอฟต์แวร์ 343,103.25 ล้านบาท) ส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในพื้นที่เศรษฐกิจที่สำคัญ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร 5,532 ราย (54.94%) ภาคกลาง 2,018 ราย (20.05%) ภาคใต้ 774 ราย (7.69%) ภาคเหนือ 633 ราย (6.29%) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 525 ราย (5.21%) ภาคตะวันออก 476 ราย (4.72%) และ ภาคตะวันตก 111 ราย (1.10 %) โดยเป็นธุรกิจขนาดเล็ก (S) 9,756 ราย (96.89%) ทุน 332,430.80 ล้านบาท (85.09%) ขนาดกลาง (M) 252 ราย (2.50%) ทุน 31,571.93 ล้านบาท (8.08%) และ ขนาดใหญ่ (L) 61 ราย (0.61%) ทุน 26,687.96 ล้านบาท (6.83%)
ภาพรวมของผลประกอบการในธุรกิจแพลตฟอร์มและซอฟต์แวร์ 3 ปีย้อนหลัง ทำรายได้สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ปี 2564 รายได้รวม 74,821.35 ล้านบาท ปี 2565 รายได้รวม 94,778.39 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 19,957.04 ล้านบาท หรือ 26.68%) และปี 2566 รายได้รวม 132,650.78 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 37,872.39 ล้านบาท หรือ 39.96%) โดยปี 2566 กลุ่มแพลตฟอร์มสามารถทำรายได้สูงกว่ากลุ่มซอฟต์แวร์ 24,075.16 ล้านบาท หรือ 44.35% (รายได้กลุ่มแพลตฟอร์ม 78,362.97 ล้านบาท รายได้กลุ่มซอฟต์แวร์ 54,287.81 ล้านบาท)ซึ่งปี 2566 เป็นปีแรกที่กลุ่มแพลตฟอร์มมีรายได้มากกว่ากลุ่มซอฟต์แวร์
ในส่วนของนักลงทุนชาวต่างชาติได้เข้ามาลงทุนในธุรกิจแพลตฟอร์มและซอฟต์แวร์ของประเทศไทยด้วยเช่นเดียวกัน โดยสัดส่วนการลงทุนของนักธุรกิจชาวไทยมีมูลค่า 362,266.43 ล้านบาท คิดเป็น 92.73%(กลุ่มแพลตฟอร์ม 35,839.00 ล้านบาท กลุ่มซอฟต์แวร์ 326,427.43 ล้านบาท) การลงทุนของชาวต่างชาติมีมูลค่า 28,397.26 ล้านบาท คิดเป็น 7.27% (กลุ่มแพลตฟอร์ม 11,721.44 ล้านบาท กลุ่มซอฟต์แวร์ 16,675.82 ล้านบาท) โดยต่างชาติที่มาลงทุนมากที่สุด 3 อันดับแรก คือ สิงคโปร์ลงทุน 9,814.28 ล้านบาท ไต้หวัน5,953.63 ล้านบาท และ มาเลเซีย2,237.63 ล้านบาท
ตัวอย่างธุรกิจในกลุ่มแพลตฟอร์มที่ชาวต่างชาติลงทุนสูงในประเทศไทย ได้แก่ สิงคโปร์ ลงทุนในธุรกิจศูนย์บริการข้อมูลและให้บริการเช้าพื้นที่สำหรับวางเซิร์ฟเวอร์ มูลค่ากว่า 2,897.37 ล้านบาท และ มาเลเซีย ลงทุนในธุรกิจตลาดกลางสำหรับการซื้อขายสินค้าผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Commerce)มูลค่า 687.21 ล้านบาท
ขณะที่ธุรกิจในกลุ่มซอฟต์แวร์ที่ชาวต่างชาติลงทุนสูงในประเทศไทย ได้แก่ ไต้หวันลงทุนในธุรกิจผลิตซอฟต์แวร์ด้านการใช้บริการในยานยนต์ไฟฟ้าโดยเฉพาะ มูลค่า 5,559.39 ล้านบาท มาเลเซีย ลงทุนในธุรกิจให้บริการซอฟต์แวร์สำหรับบุคคลทั่วไปในด้านขนส่งและโลจิสติกส์ มูลค่า 1,213.88 ล้านบาท และ สิงคโปร์ ลงทุนในธุรกิจบริการออกแบบและพัฒนาซอฟท์แวร์ รวมทั้งโปรแกรมคอมพิวเตอร์เฉพาะด้านทุกชนิด
ธุรกิจแพลตฟอร์มจะมีรายได้จากการเก็บค่าธรรมเนียม ค่าสมาชิก ค่าโฆษณา หรือ ค่าบริการต่างๆ ทำให้การมีจำนวนผู้เข้าใช้แพลตฟอร์มจำนวนมากและสม่ำเสมอเป็นเรื่องสำคัญ ดังนั้น การออกแบบแพลตฟอร์มให้ใช้งานง่ายตอบโจทย์ความต้องการตามวัตถุประสงค์ของแพลตฟอร์ม การจัดโปรโมชัน หรือกิจกรรมต่างๆ จะช่วยดึงดูดใจให้ผู้ใช้งานกลับมาใช้บริการผ่านแพลตฟอร์มซ้ำ รวมทั้ง การจัดการบริการที่เกี่ยวเนื่องกับแพลตฟอร์ม การดูแลรักษาความปลอดภัยข้อมูลของผู้ใช้บริการจะเป็นปัจจัยที่ช่วยสร้างความน่าเชื่อถือให้กับแพลตฟอร์ม
ธุรกิจซอฟต์แวร์นอกจากความต้องการใช้โปรแกรมสำเร็จรูปแล้ว ด้วยเทคโนโลยีปัจจุบันธุรกิจจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบธุรกิจ ตั้งแต่กระบวนการผลิตที่ต้องนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วย ด้านการขายก็ต้องใช้ระบบการค้าอิเล็กทรอนิกส์ และระบบการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้ง บริการหลังการขายและจัดการข้อมูลลูกค้าที่ต้องใช้การวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อให้ทราบถึงความต้องการของลูกค้าที่แท้จริง ซึ่งที่กล่าวมาล้วนเป็นการสร้างโอกาสทางธุรกิจให้มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง
ในส่วนของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ได้มีความร่วมมือระหว่าง 3 หน่วยงาน ได้แก่ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า สมาคมการค้าสตาร์ทอัพไทย (Thai Startup Association) และบริษัท บิซิเนส ออนไลน์ จำกัด (มหาชน) หรือ BOL เปิดแพลตฟอร์มดิจิทัลที่รวบรวมเครื่องมือหลายๆ ด้าน ในการบริหารจัดการและการดำเนินธุรกิจไว้ในที่เดียว เพื่อให้ง่ายและสะดวกต่อการใช้งาน รวมถึง ช่วยลดต้นทุนในการประกอบธุรกิจ เสริมศักยภาพผู้ประกอบการให้เติบโตอย่างแข็งแกร่ง โดยเฉพาะเอสเอ็มอีไทยให้สามารถแข่งขันได้ภายใต้ยุคดิจิทัล เบื้องต้นมีผู้ให้บริการ 7 ราย ภายใต้ 4 หมวดหมู่ นำเสนอสิทธิพิเศษแก่ผู้ใช้บริการ * ด้าน Sales and Marketing * ด้าน Design and Development * ด้าน Human Resource และ * ด้าน Analytics and Reporting ภายใต้ชื่อ “DBD SMEs360” โดยผู้ประกอบธุรกิจสามารถเข้าใช้งานได้ทันทีตั้งแต่เริ่มประกอบธุรกิจ
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่ ส่วนประมวลผลและวิเคราะห์ข้อมูลธุรกิจ กองข้อมูลธุรกิจ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ โทร. 0 2547 4376 สายด่วน 1570 และ www.dbd.go.th