รมว.กระทรวงการคลังเป็นประธานมอบรางวัล “สุดยอดประกันภัยดีเด่นครบวงจร ประจำปี 2565” และกดปุ่มเปิดงาน Thailand InsurTech Fair ครั้งที่ 2 อย่างยิ่งใหญ่ โดยเชิญยืนไว้อาลัยเหตุกราดยิงที่หนองบัวลำภู ก่อนเปิดงาน

รมว.กระทรวงการคลังเป็นประธานมอบรางวัล “สุดยอดประกันภัยดีเด่นครบวงจร ประจำปี 2565” และกดปุ่มเปิดงาน Thailand InsurTech Fair ครั้งที่ 2 อย่างยิ่งใหญ่ โดยเชิญยืนไว้อาลัยเหตุกราดยิงที่หนองบัวลำภู ก่อนเปิดงาน

ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย(เลขาธิการ คปภ.) เปิดเผยว่า วันนี้ (7 ตุลาคม 2565) ณ ห้องประชุม ฟีนิกซ์ 1 - 6 ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี  สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (สำนักงาน คปภ.) ได้รับเกียรติจากนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานมอบรางวัลประกันภัยดีเด่นครบวงจร (Prime Minister’s Insurance Awards) ประจำปี 2565 ซึ่งเป็นรางวัลเกียรติยศที่นายกรัฐมนตรีอนุญาตให้ใช้ลายมือชื่อสลักลงบนโล่เกียรติยศ เพื่อเป็นการประกาศเกียรติคุณ และเชิดชูเกียรติบริษัทประกันภัย องค์กร หน่วยงาน และบุคคลดีเด่นด้านการประกันภัย และมีการดำเนินการต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 18 โดยมีรางวัลรวม 14 ประเภท 66 รางวัล อาทิ รางวัลบริษัทประกันภัยดีเด่น รางวัลตัวแทน และนายหน้าประกันภัยคุณภาพดีเด่น รางวัลผู้ทำคุณประโยชน์ต่อสำนักงาน คปภ. และระบบประกันภัย รวมทั้งรางวัลบริษัทประกันภัยที่มีการพัฒนาด้านความยั่งยืนในธุรกิจประกันภัยดีเด่น (หรือ ESG) เพื่อสร้างแรงจูงใจให้ธุรกิจประกันภัยเล็งเห็นถึงความสำคัญของประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมสังคม และธรรมาภิบาล โดยก่อนเปิดงาน รัฐมนตรีอาคมได้เชิญชวนผู้ที่เข้าร่วมงานยืนไว้อาลัยเพื่อแสดงความเสียใจต่อเหตุกราดยิงที่ศูนย์เด็กเล็กอุทัยสวรรค์ อำเภอนากลาง จังหวัดหนองบัวลำภู ซึ่งทำให้มีเด็กเล็ก และประชาชนเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก

ในโอกาสนี้ รัฐมนตรีฯ ได้กล่าวปาฐกถาพิเศษและแสดงความยินดีกับผู้ได้รับรางวัล ในตอนหนึ่งว่า ขอชื่นชมคณะกรรมการ คปภ. ผู้บริหาร บุคคลากรสำนักงาน คปภ. และภาคอุตสาหกรรมประกันภัย ตลอดจนผู้มีส่วนร่วมที่ได้แสดงถึงวิสัยทัศน์ที่กว้างไกลในการจัดงานเพื่อยกย่องและเชิดชูเกียรติองค์กร หน่วยงาน และบุคคลดีเด่นด้านการประกันภัย ที่มีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์คุณประโยชน์ต่อระบบการประกันภัยและต่อสังคม และขอบคุณภาคธุรกิจประกันภัยที่ได้มีบทบาทสำคัญร่วมกับภาครัฐและสำนักงาน คปภ. เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชนผ่านระบบการประกันภัย ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่จะขับเคลื่อนและพัฒนาระบบเศรษฐกิจให้เติบโตได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน โดยภาคธุรกิจประกันภัยมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งต่อระบบเศรษฐกิจ แม้จะเกิดสถานการณ์ที่ยากลำบากในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 แต่ภาคธุรกิจประกันภัยยังสามารถผ่านพ้นมาได้ ในระบบประกันภัยมีส่วนสำคัญ 3 ส่วน ประกอบด้วย ส่วนที่ 1 ผู้บริโภค ลูกค้ารายย่อย นิติบุคคล หรือร่วมกลุ่มเป็นสถาบันต่าง ๆ ส่วนที่ 2 ภาคธุรกิจ บริษัทประกันชีวิต บริษัทประกันวินาศภัย และ ส่วนที่ 3 ผู้กำกับดูแล (Regulator) คือ สำนักงานคปภ. ซึ่งทั้งสามส่วนมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อระบบเศรษฐกิจ สิ่งสำคัญของการประกอบธุรกิจคือการแสวงหากำไร ในขณะเดียวกันต้องไม่เป็นภาระของประชาชน ประกันภัยเป็นส่วนหนึ่งของสถาบันการเงินประชาชนควรรู้ว่ามีทางเลือกอย่างไร เพื่อการวางแผนที่ถูกต้อง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสำนักงาน คปภ. ในการพิจารณาอนุญาตแบบผลิตภัณฑ์ประกันภัย โดยการออกแบบผลิตภัณฑ์ประกันภัยควรจะต้องมีสนามทดสอบ sandbox เพื่อให้เกิดความมั่นใจในการทำประกันภัยและการคุ้มครองผู้บริโภค โดยลูกค้าผู้บริโภคจะต้องมีความเข้าใจทักษะการเงิน Financial literacy ซึ่งจากการสำรวจทักษะทางเงินก็เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เป็นผลมาจากทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่เข้ามามีส่วนร่วมในระบบประกันภัย การพัฒนาทักษะทางการเงินของประชาชนมีความสำคัญที่จะทำให้การตัดสินใจได้อย่างถูกต้อง บทบาทของภาคธุรกิจประกันภัยนอกจากเป็นการระดมเงินออมแล้วการให้ผลตอบแทนที่เหมาะสมกับภาวะเศรษฐกิจในในช่วงเวลานั้น ๆ ก็เป็นสิ่งสำคัญ 

พัฒนาการของการประกันชีวิตและการประกันวินาศภัยมีการเจริญเติบโตอย่างต่อเนื่อง และที่เป็นนโยบายของรัฐบาลที่มีประสิทธิภาพคือการประกันภัยพืชผลทางการเกษตรในช่วงหลายปีที่ผ่านมา พบว่าประสบความสำเร็จด้วยดีมาโดยตลอด ซึ่งช่วยลดภาระงบประมาณของภาครัฐในการช่วยเหลือเกษตรกร เรื่องสภาวะภูมิอากาศก็เป็นสิ่งสำคัญที่บริษัทจะต้องมีการวิเคราะห์ความเสี่ยงต่อไป และในอนาคตจะต้องให้เกษตรกรมีส่วนร่วมมากขึ้น สิ่งสำคัญคือโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐซึ่งก็เป็นโอกาสของภาคธุรกิจประกันภัย นอกจากนี้การปรับตัวของธุรกิจประกันภัยในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งทำได้ดีแล้ว มีการเข้าถึงการประกันภัยของประชาชนรายย่อย และมีความเข้มข้นในการกำกับดูแลของคปภ. โดยภาคธุรกิจประกันภัยมีความท้าทายในอนาคตอยู่ 3 เรื่อง คือ การก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุ Aging Society การออมเงินของข้าราชการ และการออมของภาคประชาชนผู้ใช้แรงงานทั้งนี้การอำนวยความสะดวกของภาครัฐในการดำเนินธุรกิจ รัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ E-Government จะเป็นการลดภาระทางเอกสารโดยใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งดิจิทัลจะเข้ามามีบทบาทสำคัญในการดำเนินธุรกิจและลดขั้นตอนในการทำงานต่อไปในอนาคต 

จากนั้นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้ทำพิธีเปิดงาน Thailand InsurTech Fair (TIF) ครั้งที่ 2 อย่างยิ่งใหญ่ ซึ่งงาน TIF เป็นงานที่เป็นการรวมตัวครั้งใหญ่ของบริษัทประกันภัยชั้นนำทั่วฟ้าเมืองไทย และบุคลากรผู้คร่ำหวอดในวงการประกันภัยทั้งในและต่างประเทศ ตลอดจนพันธมิตรประกันภัยจากทั่วทุกมุมโลกที่จะมาสร้างเครือข่ายเข้าไว้ด้วยกัน โดยภายในงานประกอบด้วย การจัดนิทรรศการให้ความรู้ด้านการประกันภัย การจำหน่ายกรมธรรม์ประกันภัยแบบใหม่ ๆ และรายการส่งเสริมการขาย อาทิ ส่วนลดสูงสุด 30% การสัมมนาเกี่ยวกับการประกันภัยและเทคโนโลยีการประกันภัยที่น่าสนใจ การนำเสนอเทคโนโลยีประกันภัยและนวัตกรรม จาก tech startup และ การหารือและจับคู่ธุรกิจภายในงาน เพื่อการสร้างเครือข่าย เป็นต้น โดยรัฐมนตรีฯ ได้เข้าเยี่ยมชมบูธและเป็นประธานในพิธีเปิดบูธของสำนักงานคปภ. และของบริษัทประกันภัยอีกหลายแห่ง บรรยากาศในงาน TIF เป็นไปด้วยความคึกคัก มีประชาชนสนใจเข้าร่วมงานเป็นจำนวนมาก

ด้าน ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ กล่าวว่า อุตสาหกรรมประกันภัยไทย ได้เผชิญกับความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญที่ก่อให้เกิดความเสี่ยงรูปแบบใหม่ ๆ ซึ่งแตกต่างไปจากเดิม เนื่องจากระบบเศรษฐกิจโลกได้เปลี่ยนผ่านจากบริบทของโลกในยุคความปกติใหม่ (New Normal) ไปสู่โลกในยุคหลังการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโลกในยุคความปกติถัดไป (Next Normal) นอกจากนี้ ประเทศไทยยังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงและความท้าทายในอีกหลาย ๆ ด้าน เช่น การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุสมบูรณ์การเปลี่ยนแปลงของสภาวะแวดล้อมและความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศ การพัฒนาด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและนวัตกรรมอย่างก้าวกระโดด รวมถึงผลกระทบทางเศรษฐกิจ สังคม ที่สืบเนื่องจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา เป็นต้น ทำให้สำนักงาน คปภ. ในฐานะหน่วยงานที่ทำหน้าที่กำกับดูแลธุรกิจส่งเสริม และคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของประชาชนในด้านการประกันภัย ได้บูรณาการความร่วมมือกับภาคธุรกิจอุตสาหกรรมประกันภัย รวมทั้งภาคส่วนอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ในการขับเคลื่อนมาตรการเชิงรุกที่สำคัญต่าง ๆ เพื่อให้ระบบการประกันภัยมีบทบาทในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและเป็นที่พึ่งพิงของประชาชน รวมทั้งบูรณาการความร่วมมือกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนในกรณีการเพิกถอนใบอนุญาตของบริษัทประกันภัย จัดตั้งศูนย์ให้คำแนะนำ รับเรื่องร้องเรียน และสนับสนุนบุคลากรอำนวยความสะดวกในการรับคำขอรับชำระหนี้ เพื่อให้บริการแก่ผู้เอาประกันภัยและประชาชนเป็นไปอย่างรวดเร็วและทั่วถึง มีการจัดเตรียมสถานที่ที่สามารถยื่นคำขอรับชำระหนี้ได้ ทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค และพัฒนาเทคโนโลยีเว็บแอปพลิเคชันเพื่อใช้เป็นช่องทางติดต่อสื่อสารผู้เอาประกันภัย 

รางวัลประกันภัยดีเด่นครบวงจร (Prime Minister’s Insurance Awards) ถือเป็นรางวัลที่ทรงคุณค่าอย่างยิ่ง โดยในปีนี้ได้มีการพิจารณาคัดเลือกอย่างเป็นธรรมและเข้มข้นภายใต้กรอบกติกาที่กำหนดไว้ สำหรับรางวัลบริษัทประกันภัยเกียรติยศสูงสุด (Hall of Fame) ประจำปี 2564 ได้แก่ บริษัท เมืองไทยประกันชีวิตจำกัด (มหาชน) รางวัลผู้ทำคุณประโยชน์ต่อสำนักงาน คปภ. และระบบประกันภัย ประจำปี 2564 จำนวน4 รางวัล ได้แก่ นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร พลตำรวจโท จิรภพภูริเดช ผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ และนายกมลภพ วีระพละ รองกรรมการผู้จัดการกลุ่มงานการเงินและบัญชี ธนาคารอาคารสงเคราะห์ รางวัลบริษัทประกันชีวิตที่มีการบริหารงานดีเด่น ประจำปี 2564 อันดับที่ 1 บริษัท ไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) และรางวัลบริษัทประกันวินาศภัยที่มีการบริหารงานดีเด่น ประจำปี 2564 อันดับที่ 1 บริษัท กรุงเทพประกันภัย จำกัด (มหาชน) เป็นต้น           

“ผมขอแสดงความยินดีแก่ผู้ได้รับรางวัลทุกคน และหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ผู้ที่ได้รับรางวัลทุกคนจะยังคงมุ่งมั่นรักษาคุณภาพการดำเนินการและการให้บริการแก่ประชาชน รวมทั้งยกระดับการดำเนินการให้สอดคล้องกับบริบทที่เปลี่ยนแปลง เพื่อเป็นทั้งแบบอย่างที่ดี และเป็นกลไกสำคัญในการสร้างวัฒนธรรมการประกันภัยเพื่อให้ประชาชนได้ใช้ประโยชน์ในฐานะเครื่องมือในการบริหารจัดการความเสี่ยง อันจะนำมาซึ่งความมั่นคงและยั่งยืนทางเศรษฐกิจสังคม รวมทั้งคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน และขอเชิญชวนประชาชนมาเที่ยวงาน “มหกรรมการประกันภัย” Thailand InsurTech Fair 2022 หรือ TIF 2022 ภายใต้ธีม “ก้าวสู่จักรวาลแห่งเทคโนโลยีประกันภัย เพื่อโลกใหม่ไร้ขีดจำกัด” Reshaping Insurance to the Multiverse of InsurTech for the Future” ระหว่างวันที่ 7-9 ตุลาคม 2565 ณ ฮอลล์ 6 อิมแพคเมืองทองธานี จังหวัดนนทบุรี นอกจากจะได้รับความรู้เกี่ยวกับประกันภัยและนวัตกรรมต่าง ๆ ด้านการประกันภัยและเทคโนโลยีด้านประกันภัยแล้วยังสามารถเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ประกันภัยราคาพิเศษลดสูงสุด 30% พร้อมลุ้นรับของรางวัลมากมาย และ ไฮไลท์สำคัญคือในวันพรุ่งนี้ (8 ตุลาคม 2565) จะมีการตัดสินการประกวดนวัตกรรมเทคโนโลยีด้านการประกันภัย OIC InsurTech Award 2022 ทั้งนี้งาน “Thailand InsurTech Fair 2022 จะจัดขึ้นในลักษณะ Hybrid ทั้งรูปแบบ Online สามารถเข้าชมได้ที่เว็บไซต์www.tif2022.com หรือในรูปแบบ Onsite โดยติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ทาง tif@oic.or.th หรือทาง Facebook Page : Center of InsurTech Thailand ..แล้วพบกันครับ” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย

ข่าวเกี่ยวข้อง