ออมสินฉลองครบรอบปีที่ 108 วันที่ 1 เมษายน 2564
นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า ธนาคารออมสินเตรียมเฉลิมฉลองการครบรอบก่อตั้งธนาคารเป็นปีที่ 108 ในวันที่ 1 เมษายน 2564 พร้อมเปิดรับฝาก สลากออมสินดิจิทัล 1 ปี ฉลอง108 ปี ผ่านแอปพลิเคชัน MyMo ระหว่างวันที่ 1 – 15 เมษายน 2564 วงเงิน 5,000 ล้านบาท โดยเปิดรับฝากตั้งแต่ 200 บาทขึ้นไป สูงสุดรายละไม่เกิน 10 ล้านบาท พร้อมสิทธิลุ้นรางวัลพิเศษจากการออกเลขสลากออมสินงวดวันที่ 16 เมษายน 2564 รางวัลละ 10,000 บาท จำนวน 108 รางวัล
โดยในวาระเดียวกันนี้ ธนาคารฯ ยังเปิดรับฝากเงินประเภท เงินฝากเผื่อเรียกพิเศษฉลอง 108 ปี ให้ดอกเบี้ยในอัตราพิเศษแบบขั้นบันได สูงสุด 10.8% ต่อปี ระยะเวลาฝากเงิน 108 วัน อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย1.08% ต่อปี กำหนดเงื่อนไขการเปิดบัญชีขั้นต่ำ 10,000 บาท สูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท ให้สิทธิรายละ 1 บัญชี โดยธนาคารจะเปิดให้ผู้สนใจลงทะเบียนจองสิทธิการฝากเงินผ่านเว็บไซต์ www.gsb.or.th และช่องทาง LINE : @GSBsociety ในวันที่ 25-26 มีนาคม 2564 รวม 2 วัน วันละ 1,500 ล้านบาท วงเงินรับฝากรวม 3,000 ล้านบาท
สำหรับลูกค้าเงินฝากทุกประเภท (ยกเว้นเงินฝากเผื่อเรียกพิเศษฉลอง 108 ปี) ที่ฝากเงินตั้งแต่ 500 บาทขึ้นไป ยังมีสิทธิได้รับกระปุกออมสินที่จัดทำขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองวาระโอกาสพิเศษนี้อีกด้วย (ของมีจำนวนจำกัด) แต่ทั้งนี้เพื่อให้เป็นไปตามมาตรการเว้นระยะเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ธนาคารจึงจะเปิดให้ลงทะเบียนล่วงหน้า ในวันที่ 25-26 มีนาคม 2564 เพื่อให้ลูกค้าเงินฝากจองสิทธิรับกระปุกออมสินได้ที่เว็บไซต์ www.gsb.or.th และช่องทาง LINE : @GSBsociety โดยผู้ที่จองสิทธิสำเร็จจะได้รับSMS ให้ไปติดต่อรับกระปุกออมสินพร้อมฝากเงิน ณ สาขาธนาคารออมสิน ตามรอบวันและเวลาที่แจ้งความประสงค์ไว้ในการลงทะเบียน
นอกจากนี้ ธนาคารฯ ขอมอบเงินขวัญถุง เป็นเงิน 500 บาท แก่เด็กที่เกิดในวันที่ 1 เมษายน 2564 เพื่อเริ่มต้นปลูกฝังสร้างเสริมวินัยการออมตั้งแต่แรกเกิด โดยบิดาหรือมารดาเด็กมีสัญชาติไทย นำสูติบัตรฉบับจริงพร้อมสำเนาบัตรประชาชนบิดาหรือมารดา และสำเนาทะเบียนบ้านที่มีชื่อบิดาหรือมารดา มาแสดงที่สาขาธนาคารออมสินภายในวันที่ 30 ธันวาคม 2564
ธนาคารออมสิน ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 พระราชทานพระราชทรัพย์จัดตั้ง “คลังออมสิน” ขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2456 และต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น “ธนาคารออมสิน” ตามพระราชบัญญัติธนาคารออมสิน โดยตลอดระยะเวลา 108 ปีธนาคารออมสินได้มุ่งมั่นสืบสานพระราชปณิธานของล้นเกล้ารัชกาลที่ 6 ด้านการออมทรัพย์ พร้อมขยายบทบาทเพื่อรองรับความต้องการของประชาชนและสังคม สนองนโยบายรัฐบาลในการพัฒนาและขับเคลื่อนประเทศเคียงคู่สังคมไทยจวบจนปัจจุบัน.