เยอรมนีและไทย เปิดตัวโครงการ TGC EMC เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
กรุงเทพมหานคร 20 ตุลาคม พ.ศ. 2566 – กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม (สส.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร่วมกับองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน(GIZ) ได้เปิดตัวโครงการความร่วมมือไทย-เยอรมันด้านพลังงาน คมนาคม และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Thai-German Cooperation on Energy, Mobility, and Climate: TGC EMC) ความร่วมมือนี้มีเป้าหมายเพื่อสนับสนุนประเทศไทยในการก้าวไปสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน
งานเปิดตัวโครงการ TGC EMC อย่างเป็นทางการ มีผู้เข้าร่วมงานมากกว่า 200 ท่าน ทั้งตัวแทนจากหน่วยงานรัฐ สถาบันการศึกษา องค์กรระหว่างประเทศ ภาคเอกชน และสื่อมวลชน และจัดขึ้นด้วยความร่วมมือของหน่วยงานพันธมิตรของโครงการ ทั้งภาครัฐและทีมผู้เชี่ยวชาญ
โครงการความร่วมมือไทย-เยอรมันด้านพลังงาน คมนาคม และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกระทรวงเศรษฐกิจและการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศ สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (BMWK) ภายใต้แผนงานปกป้องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศระดับสากล (IKI) มีจุดมุ่งหมายเพื่อสนับสนุนองค์กรและหน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญในประเทศไทยในการวางแผนและดำเนินกิจกรรมที่มุ่งสู่การเปลี่ยนแปลงในภาคพลังงาน ขนส่ง อุตสาหกรรม และชีวมวล ที่สอดคล้องกับเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี พ.ศ. 2593 ของรัฐบาลไทย นอกจากนี้ โครงการจะให้การสนับสนุนด้านการเงินเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate finance) โดยกองทุนThaiCI (Thai Climate Initiative Fund) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ TGC EMC จะให้เงินทุนแก่โครงการในท้องถิ่นจำนวนหนึ่ง ควบคู่ไปกับการพัฒนาศักยภาพ
ดร.แอ็นสท์ ไรเชิล (Dr. Ernst Reichel) เอกอัครราชทูตเยอรมันประจำประเทศไทย กล่าวถึงวิธีการดำเนินการของโครงการที่เกี่ยวข้องกับหลายภาคส่วนและมีความสหวิทยาการว่า “การบูรณาการระหว่างภาคพลังงานหมุนเวียน ขนส่ง อุตสาหกรรม และชีวมวล เป็นสิ่งที่จำเป็นและต้องทำให้สำเร็จก่อนการประเมินและสำรวจทางแก้ปัญหาเชิงเทคโนโลยีที่มีนวัตกรรมแบบนำร่อง และการนำไปปฏิบัติ นอกจากนี้ด้วยกองทุน ThaiCI โครงการ TGC EMC จะสร้างเครื่องมือทางการเงินระยะยาวที่จะรักษาและเพิ่มพูนผลของโครงการโดยการสนับสนุนโครงการเพื่อการลดปัญหาและเพื่อการปรับตัวในขอบเขตต่าง ๆ ที่ต้องการการดำเนินการอย่างมาก”
ดร.ฟิลิปป์ เบห์เรนส์ (Dr. Philipp Behrens) หัวหน้าแผนงานปกป้องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศระดับสากล (IKI) กระทรวงเศรษฐกิจและการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศ สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี(BMWK) กล่าวย้ำถึงความสำคัญของโครงการ TGC EMC หนึ่งในโครงการหลักความร่วมมือทวิภาคีของ IKI ว่า “โครงการ TGC EMC เป็นมากกว่าโครงการเพื่อการลดปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แต่ยังเป็นพื้นที่สำหรับการร่วมมือในการวิเคราะห์ พัฒนาเพิ่มเติม ทดลองใช้ และขยายเส้นทางการเปลี่ยนผ่านด้วย”
นายปวิช เกศววงศ์ รองอธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม (สส.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวถึงวิธีการดำเนินงานของโครงการ TGC EMC ที่มุ่งไปที่การสนับสนุนภาคส่วนโดยการสร้างพื้นฐานความรู้ที่แข็งแรง และคาดว่างานเปิดตัวโครงการจะเป็นการสร้างความร่วมมือที่ใกล้ชิด และการผสมผสานของทุกภาคส่วนที่มากขึ้น ซึ่งจะสนับสนุนเป้าหมายด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศ
นายนที สิทธิประศาสน์ รองประธานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวในการปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ “การเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน และการบูรณาการในระดับภาคส่วน สู่เป้าหมายการเป็นกลางทางคาร์บอน ค.ศ. 2050” ถึงบทบาทของหน่วยงานพันธมิตรในภาครัฐในการสร้างการบูรณาการระหว่างภาคส่วน และแนวทางที่การบูรณาการระหว่างภาคส่วนสามารถสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านพลังงานของประเทศและช่วยให้บรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนและการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ได้
นอกจากนี้ ในงานยังมีการเสวนาหัวข้อ “ห้องทดลองเมือง (City Lab) – การบูรณาการภาคส่วนเพื่อคำตอบที่ขับเคลื่อนการเปลี่ยนผ่านพลังงาน” โดยผู้เชี่ยวชาญทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชน โดยอภิปรายถึงสิ่งที่จำเป็นในการเปลี่ยนผ่านพลังงานของไทย และปัจจัยสำคัญที่ไทยต้องคำนึงถึงเพื่อที่จะเร่งการเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานสะอาดได้อย่างมีประสิทธิผล
ในช่วงการปิดงาน นายไรน์โฮลด์ เอลเกส (Reinhold Elges) ผู้อำนวยการองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ประจำประเทศไทย กล่าวขอบคุณองค์กรพันธมิตรผู้มีบทบาทสำคัญในการการขับเคลื่อนโครงการให้ประสบความสำเร็จ และกล่าวย้ำถึงความร่วมมือที่ยาวนานระหว่างไทยและเยอรมนี ผ่านโครงการความร่วมมือจำนวนมากที่มี GIZ เป็นผู้ดำเนินโครงการ ซึ่งสะท้อนความมุ่งมั่นที่ทั้งสองประเทศมีร่วมกันต่อการป้องกันการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อที่จะสร้างสรรค์อนาคตที่ยั่งยืนสำหรับทุกคนต่อไป