โครงการ U.REKA ยกกำลังสอง เดินหน้าเปิดรับนักวิจัยไทยผุดนวัตกรรม Deep Tech
โครงการ U.REKA ยกกำลังสอง เดินหน้าเปิดรับนักวิจัยไทยผุดนวัตกรรม Deep Tech สานต่อโครงการรุ่นที่ 2 พร้อมขับเคลื่อนประเทศ
ผนึกพันมิตรชั้นนำทั้งในและต่างประเทศ เพื่อให้เกิดนวัตกรรมที่ตอบโจทย์ภาคธุรกิจได้จริง
ดิจิทัล เวนเจอร์ส ตอกย้ำการเป็นองค์กรทางด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยี เดินหน้าส่งเสริมการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลให้กับประเทศ สานต่อโครงการสร้างสรรค์งานวิจัยจาก Deep Tech จับมือ 10 มหาวิทยาลัยชั้นนำของไทย พร้อมภาคธุรกิจ องค์กรทางด้านเทคโนโลยี และพันธมิตรระดับโลก เปิดโครงการ U.REKA ต่อเนื่องเป็นรุ่นที่ 2 เปิดโอกาสนักวิจัยและพัฒนาสาย Deep Tech เสนอไอเดีย พัฒนาต่อยอดเทคโนโลยีชั้นสูงสู่การสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อช่วยจุดประกายสังคมไทยรวมพลังสร้าง Deep Tech Ecosystem และสร้างความแข็งแกร่งให้กับสตาร์ทอัพไทยในด้าน Deep Tech เพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขันด้านดิจิทัลและขับเคลื่อนการเติบโตของประเทศในระยะยาว
นายอรพงศ์ เทียนเงิน ผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ และประธานกรรมการ บริษัท ดิจิทัล เวนเจอร์ส จำกัด กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีนักวิจัยและพัฒนาทางด้านเทคโนโลยีชั้นสูง (Deep Technology) ที่มีความสามารถและมีฐานความรู้เชิงลึกกระจายอยู่ในมหาวิทยาลัยต่างๆ จำนวนมาก ดิจิทัล เวนเจอร์ส มองเห็นศักยภาพและต้องการสนับสนุนให้บุคลากรกลุ่มนี้นำความรู้ที่มีอยู่มาพัฒนาต่อยอดในเชิงธุรกิจ และสามารถเชื่อมโยงเทคโนโลยีไปสู่ภาคอุตสาหกรรมต่างๆ และภาคสังคม ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศในระยะยาว โดยในปีที่ผ่านมา ดิจิทัล เวนเจอร์ส ประสบความสำเร็จอย่างยิ่งจากการร่วมมือกับพันธมิตรทั้งภาคการศึกษาและภาคเอกชนริเริ่มโครงการ U.REKA รุ่นที่ 1 โดยมีทีมนักวิจัยพัฒนาจากมหาวิทยาลัยต่างๆ สมัครเข้าร่วมโครงการมากถึง 65 ทีม โดยขณะนี้โครงการรุ่นที่ 1 มีทีมที่ผ่านเข้าสู่ขั้นตอนคัดเลือกสู่ระยะบ่มเพาะ (Incubation) เพื่อพัฒนาไอเดียเบื้องต้น รวมถึงการได้รับคำแนะนำจากองค์กรที่อยู่ในอุตสาหกรรม จนเข้าสู่ระยะวิจัย (R&D) เพื่อพัฒนาผลงานแล้วจำนวน 5 ทีม โดยผลงานของแต่ละทีมที่กำลังพัฒนาอยู่นั้นล้วนมีการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีชั้นสูงที่ก่อให้เกิดประโยชน์ในหลากหลายมิติสำหรับสังคมไทย จากผลงานการพัฒนาที่ปรากฏอย่างเป็นรูปธรรมส่งผลให้การดำเนินโครงการ U.REKA รุ่นที่ 2 ในปี 2562 มีพันธมิตรใหม่ๆ เข้ามาร่วมสนับสนุนให้โครงการมีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น ดิจิทัล เวนเจอร์ส จึงคาดหวังว่า U.REKA จะถูกพัฒนาให้เป็นโครงการระดับชาติที่สามารถจุดประกายให้นักวิจัยพัฒนา และสตาร์ทอัพไทยสาย Deep Tech ทั่วประเทศรวมพลังสร้าง Deep Tech Ecosystem หรือสร้างบรรยากาศสังคมแห่งเทคโนโลยีให้เกิดขึ้นในประเทศไทย และสามารถพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันทางด้านดิจิทัลของประเทศให้ไต่ขึ้นสู่อันดับต้นๆ ของเอเชีย เพื่อช่วยแก้ปัญหาระดับประเทศและขับเคลื่อนการเติบโตของไทยอย่างยั่งยืนในอนาคต
ทั้งนี้การดำเนินโครงการ U.REKA รุ่นที่ 2 ได้รับการการสนับสนุนจากสถาบันศึกษา องค์กรชั้นนำทั้งไทยและต่างประเทศ กว่า 21 ราย ได้แก่ Hello Tomorrow องค์กรไม่แสวงผลกำไรที่มุ่งใช้ Deep Tech แก้ปัญหาระดับโลก Baker McKenzie, 360IP, บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด KX: Knowledge Exchange, บริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ โรงพยาบาลสมิติเวช บริษัทบางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอปอร์เรชั่น จำกัด ธนาคารไทยพาณิชย์ และดิจิทัล เวนเจอร์ส ร่วมด้วยมหาวิทยาลัย 10 แห่ง ประกอบด้วย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยพระจอมเกล้าพระนครเหนือ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และมหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยเปิดโอกาสให้กลุ่มอาจารย์ นักศึกษา นักวิจัย และผู้สนใจเทคโนโลยี Deep Technology รวมกลุ่มนำเสนอไอเดียจากการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี Deep Technology 6 ประเภท ประกอบด้วย 1. AI/Machine Learning 2.Blockchain 3.Clouds & Security 4. Big Data 5. AR/VR 6.Quantum Computing สร้างสรรค์นวัตกรรมที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้อย่างมีคุณค่า ทีมที่ผ่านการคัดเลือกจะได้รับการสนับสนุนตลอดระยะเวลาโครงการ นับตั้งแต่เริ่มระยะบ่มเพาะ (Incubation) ระยะค้นคว้าวิจัย (R&D) จนสามารถสร้างผลิตภัณฑ์หรือบริการที่สามารถเข้าสู่วงจรของการเป็นบริษัทสตาร์ทอัพที่แข็งแรงได้ การสนับสนุนครอบคลุมทั้งด้านเงินทุน การจัดหา คอร์สเรียนเพื่อเสริมทักษะให้กับทีมวิจัยและพัฒนา โดยทีมเหล่านี้จะได้รับการให้คำแนะนำจากองค์กรที่อยู่ในอุตสาหกรรมนั้นๆ โดยตรงเพื่อให้ได้ผลงานที่สมบูรณ์ที่สุดและตอบโจทย์การใช้งานที่แท้จริง
ศ.ดร.บุญเจริญ ศิริเนาวกุล ประธานกรรมการบริหาร สำนักเคเอกซ์ KX: Knowledge Exchange กล่าวว่า ขีดความสามารถในการแข่งขันทางด้านดิจิทัล (Digital Competitiveness) ของไทยในปัจจุบันอยู่อันดับที่ 39 ของโลกจาก 63 ประเทศที่ถูกจัดอันดับ ซึ่งอยู่ในลำดับที่ค่อนข้างต่ำ แสดงให้เห็นว่าประเทศยังมีศักยภาพในการแข่งขันด้านดิจิทัลในระดับนานาชาติไม่เพียงพอ โครงการ U.REKA พร้อมที่จะสนับสนุนและส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาต่อยอดเทคโนโลยี Deep Technology และกระตุ้นให้ทุกภาคส่วนของสังคมตื่นตัวในการนำเทคโนโลยีขั้นสูงมาใช้งานจริง โดยมองเห็นโอกาสที่จะผลักดันให้อันดับขีดความสามารถในการแข่งขันทางด้านดิจิทัลของไทยจะปรับสูงขึ้น และพร้อมเดินหน้าสู่เป้าหมายการขับเคลื่อนประเทศด้วยเทคโนโลยี